SHARE

Inflation risks : ปัจจัยความเสี่ยงเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป

หากพิจารณาถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า พบว่ายังมีความเสี่ยงหลายด้านที่จะทำให้เงินเฟ้อไทยกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในปี 2024

“Inflation is the one form of taxation that can be imposed without registration.”

Milton Friedman


หากย้อนกลับไปปี 2022 หนึ่งในประเด็นเศรษฐกิจที่ถูกจับตาและพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์แตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี ประเทศไทยเองก็เช่นกัน เงินเฟ้อไทยขยายตัวสูงสุดถึง 7.9% ในเดือนสิงหาคม 2022 ทำให้เงินเฟ้อไทยทั้งปี 2022 อยู่ที่ระดับ 6.1% สูงสุดในรอบ 24 ปี ปัจจุบันแม้ภาพรวมเงินเฟ้อโลกในปีนี้เหมือนคลี่คลายลงไปบ้าง แต่เงินเฟ้อของหลายประเทศยังคงอยู่สูงกว่ากรอบนโยบายของธนาคารกลาง สวนทางกับเงินเฟ้อไทยที่กลับชะลอลงมาอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดในเดือนตุลาคมพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 25 เดือนที่ -0.31% บทสรุปเงินเฟ้อไทยในปี 2023 จึงน่าจะสามารถกลับเข้ามาอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดได้เป็นที่แน่นอนแล้ว

ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า พบว่ายังมีความเสี่ยงหลายด้านที่จะทำให้เงินเฟ้อไทยกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในปี 2024 ขณะที่เงินเฟ้อโลกกลับมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง บทความนี้ชวนติดตามและประเมินสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อไทยจะไปต่อ โดย SCB EIC สรุปความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้าทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศได้ 3 ประการดังนี้

1. ราคาสินค้าเกษตรเผชิญความเสี่ยงจากปรากฏการณ์เอลนีโญและนโยบายควบคุมการส่งออกบางประเทศ

โลกเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญมาตั้งแต่ช่วง พ.ค. 2023 และคาดว่าอาจจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ดังกล่าวยาวนานจนถึง เม.ย. 20241 ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนแล้งในหลายประเทศรวมถึงไทยในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก รวมถึงอาจมีผลผลิตเพื่อส่งออกน้อยลง ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะมีภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตรบางประเภท ทำให้บางประเทศ เช่น อินเดียที่เป็นผู้ส่งออกข้าวและน้ำตาลรายใหญ่ของโลกได้ออกนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าทั้งสองชนิด ส่งผลให้ราคาข้าวและน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

SCB EIC ประเมินปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงส่งผลกระทบมากขึ้นในปี 2024 เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อหมวดอาหารที่คิดเป็นสัดส่วนมากถึงเกือบ 40% ในตะกร้าเงินเฟ้อของไทย ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น +0.45 percentage point (ppt) ในปี 2024 (ประเมิน ณ ก.ย. 2023) ท่ามกลางปัญหารายได้ของครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

2. ราคาพลังงานเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์  

ในระยะต่อไป SCB EIC ประเมินว่าราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และความไม่แน่นอนของสงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานหากสงครามในอิสราเอลฯ ไม่ลุกลามไปในภูมิภาคจะไม่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก แต่ยังมีโอกาสมากกว่า 25% ที่สงครามอาจลุกลามรุนแรงขึ้น เช่น กรณีอิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) โดยให้ความช่วยเหลือปาเลสไตน์และขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ หรือกรณีอิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) แม้ในอดีตยังไม่เคยมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ แต่ความตึงเครียดของสงครามอาจมีผลทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นราว +5% หากมีการปิดช่องแคบนี้ขึ้นคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันโลกปี 2024 ปรับขึ้นเฉลี่ยราว +13.6% เทียบกรณีฐาน เศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบทางตรงผ่านราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น

โดย SCB EIC ประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบโลก (Brent) เพิ่มขึ้น +10% จะทำให้เงินเฟ้อไทยสูงขึ้น +0.42 pp จากพลังงานที่คิดเป็นสัดส่วนราว 12.4% ในตะกร้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น +0.33 ppt และสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานบางชนิดได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมาก เช่น อาหารสำเร็จรูป และการเดินทางเพิ่มขึ้น ราว +0.1 ppt

ทั้งนี้แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนมาต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านพลังงาน ทำให้ความผันผวนของราคาพลังงานในโลกที่เกิดขึ้นไม่ถูกส่งผ่านมาที่ราคาพลังงานในประเทศเต็มที่ ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่พึ่งพากลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการอุดหนุนราคาเพิ่มเติม เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลกและต้นทุนน้ำมันในประเทศ ทำให้ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ มีโอกาสติดลบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในระยะข้างหน้าหากเกิด Shock ต่อราคาน้ำมันยิ่งเป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อฐานะกองทุนและอาจนำไปสู่ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีโอกาสลดลง 

3. ต้นทุนภาคธุรกิจและแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึง ปัจจัยในประเทศที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งคือนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะนำมาใช้ โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แม้ปัจจุบันจะยังมีความไม่แน่นอนทั้งด้านกฎหมาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางการคลัง แต่หากถูกนำมาใช้จริง SCB EIC ประเมินว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพ และอาจก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อได้

อย่างไรก็ดี ผลจากมาตรการดังกล่าวอาจเป็นเพียงชั่วคราว และเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพดังเดิม จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาพลวัตของเงินเฟ้อไทยในช่วงเงินเฟ้อผันผวนสูงถูกขับเคลื่อนมาจากความผันผวนด้านอุปทาน เช่น ราคาพลังงาน เป็นหลัก ซึ่งสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อได้มากกว่า 60% ในขณะที่เงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์มีไม่มากและคิดเป็นเพียงแค่ไม่ถึง 20% ของการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ SCB EIC In focus : เงินเฟ้อไทยไปต่อ…หรือพอแค่นี้) จึงประเมินว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อที่จะเกิดจากมาตรการนี้มีไม่สูงนัก หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงินเฟ้อไทยอ่อนไหวต่อความผันผวนด้านอุปสงค์น้อย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งนโยบายที่ SCB EIC มองว่าต้องจับตาแม้จะยังไม่ถูกกล่าวถึงมากนักเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล นั่นคือ นโยบายการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำที่จะกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจโดยตรง หากเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเนื่องในระยะ 4 ปีข้างหน้า (เริ่มครั้งแรกปี 2024) จนถึง 600 บาทต่อวันตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายไว้เมื่อช่วงหาเสียง จะเป็นอีกแรงกดดันต่อเงินเฟ้อไทยในปีหน้า โดย SCB EIC ประเมินว่าการทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปที่ 600 บาทจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นราว +1.5 ppt จากกรณีฐาน


โดยสรุป สาเหตุหลักที่เงินเฟ้อไทยชะลอลงในช่วงไตรมาส 3 มาจากราคาพลังงานที่ลดลงรวมถึงมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐ แต่ในระยะข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวสูงกว่าในปี 2023 มีมากกว่าความเสี่ยงด้านต่ำ ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะเริ่มส่งผลกระทบชัดเจนในปี 2024 และอาจจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยในระยะปานกลางแม้จะยังอยู่ในกรอบนโยบายแต่จะมีความผันผวนและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาภายนอกโดยเฉพาะจากด้านอุปทานมากขึ้นจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังขาดความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังพึ่งพาพลังงานรูปแบบเก่า เช่น น้ำมัน ในระดับสูง ทำให้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าในอดีตโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อนการระบาด COVID-19 ที่เงินเฟ้อไทยขยายตัวต่ำกว่ากรอบเป้าหมายหรือขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 1%

ทั้งหมดนี้นับเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายสำหรับรัฐบาลที่จะต้องเร่งเตรียมหาทางรับมือความผันผวนของราคาที่จะส่งผ่านมายังเงินเฟ้อไทย ผ่านการบริหารจัดการระบบโครงสร้างโดยเฉพาะด้านการเกษตรให้สอดคล้องและ Resilient กับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยหันไปพึ่งพาพลังงานรูปแบบใหม่ลดการใช้พลังงานเก่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของเงินเฟ้อที่เหมาะสม


1คาดการณ์โดยสถาบัน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย


________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงินประจำเดือนธันวาคม 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ