SHARE
SCB EIC BRIEF
13 ธันวาคม 2023

โอกาสเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ใน EEC รับกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่อปี 2021 ทางการได้กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนา EEC ให้เป็นพื้นที่ Net zero carbon emission ซึ่งอุตฯใน EEC ต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 10% ภายในปี 2026

กระแสสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นหนึ่งในกระแสหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมถึงไทย ซึ่งมีเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ทั้งนี้หากต้องการบรรลุเป้าหมายจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในปี 2021 ทางการได้กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนา EEC ให้เป็นพื้นที่ Net zero carbon emission ซึ่งภาคอุตสาหกรรมใน EEC ต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 10% ภายในปี 2026 โดยหนึ่งในมาตรการที่ EEC จะดำเนินการ คือ การเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้ได้ 30% ของความต้องการไฟฟ้ารวมใน EEC ซึ่งในระยะแรกจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 500MW 

EEC มุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะแสงอาทิตย์

จากมาตรการข้างต้น ส่งผลให้การใช้พลังงานในพื้นที่จังหวัด EEC มุ่งไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ ซึ่งการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ใน 3 จังหวัด EEC เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยในช่วงปี 2022-2023 มีการขออนุญาตฯ เฉลี่ยปีละ 71MW (13% ของกำลังการผลิตรวมที่ขออนุญาตฯ ทุกประเภทพลังงาน) เพิ่มขึ้นมากจากในช่วงปี 2016-2019 ที่เฉลี่ยปีละ 18MW (1% ของกำลังการผลิตรวมฯ) นอกจากนี้ การใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่อยู่นอกระบบโครงข่ายการไฟฟ้า (เช่น การผลิตไฟฟ้าใช้เอง การซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากเอกชนอื่น) ใน 3 จังหวัด EEC เร่งตัวขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากปี 2019 ที่มีปริมาณเพียง 32 ล้านหน่วย เป็น 114 ล้านหน่วยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023

จากการเติบโตข้างต้น SCB EIC ยังเชื่อว่าการเติบโตสูงยังคงมีต่อเนื่อง เนื่องจาก 1. กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ ≥ 500MW โดยกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ขออนุญาตฯ ในช่วง 10 ปีอยู่ที่ 381MW หรือ 76% ของเป้าหมาย 2. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 30% โดยการใช้ไฟฟ้านอกระบบฯ จากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC มีสัดส่วนเพียง 3.4% ของการใช้ไฟฟ้านอกระบบจากทุกประเภทพลังงาน (ไม่นับรวมการซื้อใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน REC จากผู้ผลิตไฟฟ้านอกพื้นที่) ขณะที่การใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ก็มีสัดส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่ถึง 10% ของกำลังการผลิตรวม และ 3. ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ลดลงตามราคาแผงโซลาร์ (SCB EIC คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 12% ต่อปีในช่วงปี 2023-2027)

ความท้าทายของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใน EEC

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใน EEC ยังมีความท้าทายที่รอการแก้ไขเพื่อให้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาการใช้ไฟฟ้านอกระบบฯ ของแต่ละจังหวัดใน EEC พบว่า ฉะเชิงเทราใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงถึงเกือบ 26% ของการใช้ไฟฟ้านอกระบบฯ ทุกประเภทพลังงาน ขณะที่ชลบุรีและระยองมีสัดส่วนเพียง 2.1% และ 0.8% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ในต้นทุนที่เหมาะสมอาจมีจำกัด (เช่น ที่ดินราคาสูงเกินไปสำหรับ Solar farm) เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ผนวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีความมั่นคงและต่อเนื่อง ทั้งนี้เรามองว่าความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะคลี่คลายลงได้บ้าง หากรัฐอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถส่งต่อไฟฟ้าผ่านโครงข่ายของการไฟฟ้าไปยังผู้ซื้อที่อยู่ห่างไกลได้ ผ่านนโยบาย Third Party Access (TPA) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการได้เฉพาะใน Sandbox เท่านั้น โดยหากสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ เอกชนในระยองหรือชลบุรีที่ต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูงจะสามารถซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้โดยตรงจากเอกชนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้จำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดใน EEC จะเร่งตัวได้ดีขึ้น

________
เผยแพร่ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 12 ธันวาคม 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ