SHARE
SCB EIC BRIEF
13 พฤศจิกายน 2023

Conscious consumerism เทรนด์ยักษ์เขย่าโลก

Conscious consumerism คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ ท่ามกลางเทรนด์การบริโภคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องความยั่งยืน

Conscious consumerism หรือ การบริโภคอย่างมีจิตสำนึก คืออะไร?

เทรนด์การบริโภคอย่างมีจิตสำนึกและรับผิดชอบ หรือ Conscious consumerism คือแนวคิดในเชิงบริโภคนิยมที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกในหลากหลายมิติอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การซื้อสินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ หรือแม้แต่การตัดสินใจลงทุนด้านการเงิน เช่น การซื้อหลักทรัพย์ พันธบัตร หรือหุ้นกู้ โดยพบว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มสนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับผลสำรวจ Global consumer insight pulse survey ของ PwC ล่าสุดในปีนี้ ที่ระบุว่า กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 8,975 คน ใน 25 ประเทศ (รวมทั้งไทย) เต็มใจที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงแนวคิดเรื่องความยั่งยืน อีกทั้ง ยังพบอีกว่า ผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials และ Gen Z เป็นกลุ่มที่เปิดรับและเต็มใจจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 

เทรนด์การทานอาหารที่คำนึงถึงความยั่งยืนของผู้บริโภค

สำหรับในบริบทของผู้บริโภค การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการรับประทานอาหารถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ทุกคนทำได้ แต่สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG emissions) ที่เกิดจากการขนส่งสินค้าทางไกลข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศ หรือแม้แต่การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลงและหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนมากขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ลดการปล่อย GHG จากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญในการปล่อย GHG ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยมีสัดส่วนมากถึงราว 14% ของทั้งหมด ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยของภาคขนส่งคมนาคมเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ยังมีส่วนช่วยลด GHG จากการเผาป่าเพื่อปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหารปศุสัตว์ได้อีกด้วย 

ผู้ประกอบการกลุ่ม Foodservice ปรับตัวตอบโจทย์เทรนด์ Conscious consumerism มากขึ้น

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการในกลุ่ม Foodservice เพื่อตอบโจทย์เทรนด์นี้มากขึ้น เช่น แมคโดนัลด์ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2021 ได้เปิดตัวสาขาใหม่ที่อังกฤษภายใต้แนวคิด ‘Net zero’ หรือ แมคโดนัลด์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก เริ่มตั้งแต่การก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลม รวมทั้งยังนำขนแกะมาใช้เป็นฉนวนอาคารแทนเส้นใยพลาสติกที่ใช้ในอาคารทั่วไป และใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% อีกด้วย นอกจากนี้ แมคโดนัลด์ยังทยอยออกเมนู Mcplant มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดเมนูที่ทำจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนและภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกัน ในร้านอาหารแบบ Fine dining บางแห่ง ยังได้นำเอาเมนูอาหารยั่งยืน หรือ Low-carbon menu เช่น อาหารที่ทำจากพืชผักหรือธัญพืชต่าง ๆ มาเป็นเมนูแนะนำจากเชฟ หรือจานโปรดประจำวัน (Dish of the day) เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนแนวคิดรักษ์โลกนี้

เทรนด์การเลือกซื้อเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นที่คำนึงถึงความยั่งยืนของผู้บริโภค

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างใกล้ตัว คือเทรนด์การเลือกซื้อเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญและคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้กระแส Slow fashion หรือ Eco-fashion กลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นอีกครั้งและสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไป อาทิ การเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่มีคุณภาพสูงตัดเย็บดีเพื่อให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ใช้นวัตกรรม “Zero-waste design” หรือการออกแบบให้เหลือเศษผ้าทิ้งเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย รวมไปถึงการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุ Recycle 100% ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคบางส่วนยังนำเสื้อผ้าไปขายต่อเป็นเสื้อผ้ามือสอง แลกเปลี่ยน หรือเช่าเพื่อลดการซื้อใหม่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองต่าง ๆ และลดปัญหาโลกร้อน เนื่องจากอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น โดยมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนประมาณ 8-10% ของการปล่อยทั้งหมดทั่วโลก รวมทั้งยังมีการปล่อยน้ำเสียมากถึงราว 20% ของทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งถือเป็นปริมาณที่มากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งรวมกัน ทั้งนี้ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการที่สอดรับกับเทรนด์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การเกิดธุรกิจที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อเสื้อผ้ามือสอง โดยจะทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่การคัดแยกและทำความสะอาดเสื้อผ้า ตั้งราคาขายที่เหมาะสม ถ่ายรูปสินค้าเพื่อลงโฆษณา ดูแลเรื่องระบบชำระค่าสินค้า และการจัดส่ง ซึ่งช่วยให้การขายเสื้อผ้ามือสองเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก

SCB EIC มองว่า Conscious consumerism คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ ท่ามกลางเทรนด์การบริโภคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องความยั่งยืนและจิตสำนึกรักษ์โลก ดังนั้น ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ในองค์กร และผลักดันให้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใช้สติก่อนใช้สตางค์


________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอตวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ