SHARE
SCB EIC BRIEF
02 พฤศจิกายน 2023

Food waste : วิกฤตปัญหาหรือโอกาสทางธุรกิจ

ปัญหาขยะอาหารแม้จะเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข แต่ยังมีโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้

“If we want to get serious about tackling climate change, nature and biodiversity loss, and pollution and waste, businesses, governments and citizens around the world have to do their part to reduce food waste”, said Inger Andersen, Executive Director of the UN Environment Programme (UNEP). (4 March 2021) 

ขยะอาหารปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ไม่ควรมองข้าม

ปัญหาขยะอาหารถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ได้รับความสนใจเพิ่มสูงขึ้นในระดับโลกเนื่องจากส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ อีกทั้ง ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อ 12.3 ซึ่งตั้งเป้าหมายลดปัญหาขยะอาหารโลกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคให้เหลือเพียง 50% ภายในปี 2030 ทั้งนี้จากรายงานดัชนีขยะอาหาร  (Food waste index report) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) พบว่า ในปี 2019 ปริมาณขยะอาหาร (Food waste) ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 931 ล้านตัน หรือคิดเป็น 17% ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก โดยเกิดขึ้นจากภาคครัวเรือนเป็นหลักราว 61% ถัดมาเป็นธุรกิจบริการอาหาร (Food service) 26% และธุรกิจค้าปลีกอาหาร (Food retails) 13% โดย UNEP ประเมินว่าปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากต้นทุนการผลิตอาหารที่สูญเสียไปกับอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะ และต้นทุนจากการจัดการขยะอาหารที่เกิดขึ้นอีกด้วย อีกทั้ง ขยะอาหารยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก ทั้งนี้ยังไม่รวมผลกระทบจากก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาหากฝังกลบเศษอาหารไม่ถูกวิธี ซึ่งก๊าซมีเทนส่งผลเสียต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

ในส่วนของไทยเองก็เผชิญกับปัญหาขยะอาหารที่ต้องเร่งจัดการ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในปี 2021 ภาคครัวเรือนไทยมีปริมาณขยะอาหารถึง 5.47 ล้านตัน หรือ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี อีกทั้ง ปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนคิดเป็น 22% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ปัญหาขยะอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของไทยในการเร่งแก้ไขปัญหา โดยภาครัฐได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564-2569 (ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนสู่เป้าหมาย Zero waste ซึ่งภาคการเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งใน 4 สาขายุทธศาสตร์หลัก  (ยุทธศาสตร์ 4 สาขา ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์) โดยจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการขยะและการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดตลอด Supply chain ตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไปจนถึงการจัดการอาหารเหลือหลังการบริโภค

การจัดการขยะอาหารเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

หนึ่งในความท้าทายหลักที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาขยะอาหารคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน เพราะแท้จริงแล้วขยะอาหารไม่ได้เป็นอาหารที่ไม่สามารถนำไปบริโภคต่อได้ทั้งหมด แต่ยังมีอาหารส่วนเกิน (Food surplus) หรืออาหารที่ผลิตหรือซื้อมาเกินกว่าความต้องการที่สามารถนำไปบริโภคต่อได้แต่กลับถูกทิ้งรวมเป็นขยะด้วย นอกจากนี้ ขยะอาหารบางประเภทยังสามารถแปลงเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ หากมีการจัดเก็บและคัดแยกอย่างถูกวิธี

อีกความท้าทายที่สำคัญถัดมาคือ การกำหนดแนวทางการจัดการขยะ ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐในการวางแผนจัดการรวมถึงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปฏิบัติตาม เนื่องจากขยะอาหารส่วนใหญ่มักจะถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไปทำให้ขั้นตอนการคัดแยกและกำจัดขยะทำได้ยากลำบากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ 1. ขยะอาหารบางส่วนที่ควรจะแปลงเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ หากมีการจัดเก็บและคัดแยกอย่างถูกวิธีไม่สามารถดำเนินการต่อได้ 2. การกำจัดด้วยวิธีการเผาจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนสูงขึ้นเนื่องจากขยะมูลฝอยที่มีขยะอาหารปนอยู่จะมีความชื้นสูง และมีโอกาสเกิดมลพิษจากการเผาขยะมากขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ 3. ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดพาหะของโรคจากการกำจัดขยะไม่ถูกวิธี เช่น การฝังกลบที่อาจทำให้น้ำขยะซึมไหลลงสู่แม่น้ำ รวมไปถึงปัญหาเรื่องกลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น การกำหนดแนวทางการจัดการขยะอาหารที่ชัดเจน และปลูกฝังการแยกขยะอย่างจริงจังผ่านการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทิ้งขยะที่เข้มงวดจะช่วยให้ปริมาณขยะลดลงและยังสามารถปรับเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้เกาหลีใต้ถือเป็นตัวอย่างประเทศที่เผชิญปัญหาขยะอาหารค่อนข้างสูง แต่สามารถแก้ไขและจัดการปัญหาขยะได้เป็นอย่างดี โดยจากวัฒนธรรมการกินอาหารของเกาหลีใต้ที่ประกอบด้วยจานเครื่องเคียงที่หลากหลาย จึงทำให้เกิดปริมาณขยะอาหารมากถึง 130 กิโลกรัมต่อคนต่อปีสูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้วางแผนและออกมาตรการอย่างจริงจังในหลายด้านเพื่อแก้ไขปัญหาขยะอาหาร เช่น 1. ระบบจ่ายเท่าที่ทิ้ง (Pay-As-You-Throw) ซึ่งกำหนดให้ประชาชนต้องแยกขยะอาหารจากขยะอื่น ๆ และจ่ายค่าจัดการขยะอาหารตามปริมาณที่ทิ้งผ่านถังขยะอัตโนมัติ หรือ Smart bins ซึ่งจะทำหน้าที่ชั่งน้ำหนักพร้อมคำนวณค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ 2. ระบบจัดการขยะอาหารด้วยการรีไซเคิล โดยมีการตั้งศูนย์รีไซเคิลขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งช่วยให้ปัจจุบันขยะอาหารของประเทศสามารถนำไปรีไซเคิลมากกว่า 90% เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 3% ก่อนการออกมาตรการของภาครัฐ 3. การขับเคลื่อนผ่านภาคประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อลดขยะอาหารและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้ปริมาณขยะอาหารของภาคครัวเรือนในเกาหลีใต้ลดลงต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดจนมาอยู่ที่ 71 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2021 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ทิศทางการแก้ปัญหาขยะอาหารในไทย

แม้ไทยจะเผชิญกับวิกฤตปัญหาขยะอาหารเช่นเดียวกับในหลายประเทศ แต่แนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทและความพร้อมของประเทศนั้น ๆ โดยแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพของไทยนั้นจะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมในหลายมิติ ดังนี้

1. การตั้งเป้าหมายและวางแผนจัดการขยะอาหารแบบองค์รวม เนื่องจากการจัดการขยะอาหารต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน โดยมีภาครัฐทำหน้าที่เป็นกำลังหลักในการกำหนดนโยบายและวางแผนแบบองค์รวมตั้งแต่การลดขยะจนถึงการแยกและจัดการขยะ ซึ่งภาครัฐจะต้องวางระบบการแยกเก็บขยะในแต่ละประเภทพร้อมทั้งลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายด้าน เช่น รถจัดเก็บขยะแบบแยกประเภท การจัดรอบเก็บขยะ พื้นที่ของโรงเก็บขยะในแต่ละประเภท รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดการขยะ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นต้นน้ำในการทิ้งขยะจะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการลดและแยกขยะ พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะของภาครัฐ และการตั้งศูนย์รีไซเคิลแปลงสภาพขยะอาหารที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาใช้ประโยชน์

2. การกำหนดแนวทางการจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่โดยอาศัยฐานข้อมูลขยะของภาคเอกชน เนื่องจากขยะอาหารในแต่ละพื้นที่มีปริมาณและลักษณะไม่เหมือนกัน ดังนั้น การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารจะทำให้ทราบถึงประเภทขยะอาหารที่เกิดขึ้นและผลกระทบของขยะในแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ในเขตเมืองจะมีทั้งขยะอาหารที่สามารถเป็นอาหารส่วนเกินและเศษอาหารหลังการบริโภคจากธุรกิจด้านอาหารหรือโรงแรมทิ้งรวมกันอยู่ ขยะอาหารเหล่านี้จะมีความชื้นค่อนข้างสูงเนื่องจากผ่านกระบวนการปรุงสุกแล้ว ซึ่งมีโอกาสส่งกลิ่นเหม็นรบกวนและเกิดน้ำจากขยะไหลซึมออกมาได้ง่าย  โดยข้อมูลขยะอาหารจากภาคเอกชนจะช่วยให้การวางแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ภาครัฐยังสามารถออกมาตรการแก้ไขปัญหาขยะที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย

3. การสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจแก่ภาคครัวเรือนให้ปฏิบัติตามระบบการจัดเก็บขยะและนโยบายการแยกขยะอย่างจริงจัง โดยในบางพื้นที่แม้จะมีการจัดทำถังขยะแยกประเภทแต่เมื่อถึงขั้นตอนการจัดเก็บ ขยะส่วนใหญ่จะถูกนำไปรวมกัน จึงทำให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพลดลงและขยะบางประเภทก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อ้างอิงจากผลสำรวจของไวซ์ไซท์เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมของคนไทยจากข้อความที่พูดถึงการแยกขยะก่อนทิ้งบนโลกออนไลน์กว่า 3.7 หมื่นข้อความในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2018 ถึงมิถุนายน 2019 พบว่า คนไทยที่ไม่ได้แยกขยะกว่า 64% เชื่อว่าขยะในถังแต่ละประเภทจะถูกนำไปเทรวมกันอยู่ดี และอีก 30% ให้เหตุผลว่าการแยกขยะมีความยุ่งยาก

นอกจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารเกินความจำเป็นตลอด Supply chain ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้วิกฤตปัญหาขยะอาหารบรรเทาลง เช่น ธุรกิจอาหารควรมีระบบสั่งซื้อวัตถุดิบที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า หรือภาคครัวเรือนควรซื้ออาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภค เป็นต้น

โอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นได้จากขยะอาหารที่ไร้ค่า

ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายกลุ่มเห็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจจากขยะอาหารมากขึ้นทั้งในส่วนของขยะอาหารที่ไม่สามารถบริโภคต่อได้ และอาหารส่วนเกินที่ยังสามารถบริโภคได้

ในส่วนของขยะอาหาร การเพิ่มมูลค่าจากขยะอาหารถูกนำไปเป็นไอเดียในการต่อยอดทางธุรกิจ  เช่น บริษัทสตาร์ตอัปในสิงคโปร์นำกากธัญพืชมาทำบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยกากธัญพืชที่ใช้จะมาจากกระบวนการการผลิตอาหาร ซึ่งก่อนหน้านั้น กากธัญพืชนี้มักจะถูกนำไปใช้ทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือถูกกำจัดทิ้ง ดังนั้น การนำกากธัญพืชมาทำบรรจุภัณฑ์นี้จะช่วยแก้ปัญหาขยะอาหารได้ อีกทั้ง ยังช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกจากการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกด้วย

ในส่วนของอาหารส่วนเกิน  ตัวอย่างของภาคธุรกิจที่เห็นโอกาสทางธุรกิจจากการเป็นแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงผู้ที่มีอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการอาหารส่วนนี้ให้มาเจอกัน ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มการบริจาคอาหารส่วนเกินให้แก่ผู้ยากไร้ เช่น แพลตฟอร์ม คลาวด์ ฟู้ด แบงก์ หรือธนาคารอาหารออนไลน์ที่ร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ SOS Thailand รับบริจาคอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือจากร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อส่งต่อไปยังชุมชนขาดแคลน ผู้ด้อยโอกาส และองค์กรสาธารณะให้สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ อย่างไรก็ดี การบริจาคอาหารส่วนเกินแก่องค์กรการกุศลอาจยังไม่สร้างแจงจูงใจมากพอให้กับภาคเอกชนในปัจจุบัน เนื่องจากการบริจาคอาหารส่วนเกินในไทยยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เหมือนดังเช่นในสหรัฐฯ ที่มีการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่บริจาคอาหารให้แก่องค์กรสาธารณกุศลไม่เกิน 15% ของเงินได้สุทธิ หรือแคนาดาที่ให้เครดิตภาษีเงินได้แก่บุคคลหรือผู้ประกอบการไม่เกิน 25% ของมูลค่าที่บริจาค 2. แอปพลิเคชันจำหน่ายอาหารส่วนเกินจากโรงแรมและร้านอาหาร ที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าด้วยการลดราคาอาหารลงจากราคาปกติเกินครึ่ง โดยในไทยมีแอปพลิเคชันยินดี (Yindii) และแอปพลิเคชัน OHO! ที่เป็น Partner กับทั้งร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ในการจำหน่ายอาหารส่วนเกินให้กับลูกค้า หรือในต่างประเทศมี Platform e-commerce ชื่อว่า Misfits Market ที่พัฒนามาช่วยผู้ผลิตที่ไม่สามารถขายผลผลิตที่มีรูปลักษณ์หรือคุณภาพด้อยกว่าแต่ยังสามารถบริโภคได้ให้กับลูกค้าที่ไม่เน้นรูปลักษณ์ของผลผลิตในราคาพิเศษ นอกจากนี้ 3. ภาคธุรกิจยังเห็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี AI มาช่วยประมาณการความต้องการวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารแบบวันต่อวันจากข้อมูล Big data ที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจบริการอาหารและธุรกิจค้าปลีกอาหาร อีกทั้ง ยังสามารถรักษาคุณภาพอาหารให้กับลูกค้าได้ เช่น ร้าน Sushiro ของญี่ปุ่นได้นำข้อมูลจาก Tag IC ใต้จานซูชิมาวิเคราะห์ว่าควรทำซูชิชนิดใดด้วยปริมาณเท่าไร ซึ่งจะส่งผลให้ซูชิบนสายพานมีความสดใหม่อยู่เสมอ และสามารถลดขยะอาหารของร้านซูชิได้จาก 10% เหลือ 4% อีกด้วย

ปัญหาขยะอาหารแม้จะเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน แต่ปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นก็ยังมีโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่จะสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ อีกทั้ง ยังสอดรับกับกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย


________
เผยแพร่ในวารสารการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงินประจำเดือนตุลาคม 2023

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ