SHARE
INFOGRAPHICS
10 สิงหาคม 2023

เจาะลึกตลาดบ้านหรู

ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 บ้านหรูยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย

SCB-EIC_Infographic_Luxury_House-01.jpg

SCB-EIC_Infographic_Luxury_House-02.jpg(หมายเหตุ : ตลาดบ้านหรู หมายถึง ตลาดบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ที่มีราคาขายมากกว่า 20 ล้านบาท)

ทำไมต้องบ้านหรู ?

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมชะลอตัว ขณะที่บ้านหรูยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย ทำให้ความต้องการบ้านหรูเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความต้องการอยู่อาศัยของลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ใช้สอย ทำเลที่อยู่อาศัย และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้าน ประกอบกับอุปทานในตลาดที่ยังมีอยู่น้อย จากการที่ผู้ประกอบการได้ชะลอการเปิดโครงการ และข้อจำกัดในการหาที่ดินขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโครงการ

สถานการณ์ตลาดบ้านหรู และแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร ?

เมื่อพิจารณาหน่วยเปิดขายใหม่ หน่วยขายได้ และหน่วยเหลือขายสะสม ทั้งในภาพรวม และในทำเลยอดนิยม สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดบ้านหรู และแนวโน้มในอนาคต ได้ดังนี้

ตลาดบ้านหรูในภาพรวม : ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 หน่วยเปิดขายใหม่มีการชะลอตัวในปี 2021 แต่กลับมาเพิ่มขึ้นมากในปี 2022 โดยในระยะต่อไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการจะเปิดโครงการอย่างระมัดระวังมากขึ้น จากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น

ในส่วนของหน่วยขายได้ที่อยู่อาศัย ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างสม่ำเสมอในระยะต่อไป ทำให้หน่วยเหลือขายสะสมยังไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2020 และมีแนวโน้มที่จะยังทรงตัวอยู่ในระดับเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ตลาดบ้านหรูในทำเลยอดนิยม : ในปี 2022 ทำเลที่มีการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3 คิดเป็น 15% ของหน่วยขายได้ของตลาดบ้านหรูทั้งหมด รองลงมาเป็นตลิ่งชันคิดเป็น 11% ลำดับถัดมาเป็นพัฒนาการ ที่รวมกรุงเทพกรีฑาเข้าไปในพื้นที่คิดเป็น 10% ศรีนครินทร์-อุดมสุขคิดเป็น 7% และบางนา-ตราดคิดเป็น 5% ในส่วนของทำเลที่มีอัตราการขยายตัวของหน่วยขายได้โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2019-2022 สูงที่สุด ได้แก่ ศรีนครินทร์-อุดมสุขอยู่ที่ 82%CAGR รองลงมา ได้แก่ สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3 อยู่ที่ 75%CAGR และพัฒนาการ (กรุงเทพกรีฑา) อยู่ที่ 23%CAGR

ทั้งนี้ทำเลยอดนิยมส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก สามารถเดินทางเข้าถึงได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า และทางด่วน นอกจากนั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างมาก ทั้งสนามบินนานาชาติ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ ขณะที่ทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตลิ่งชัน รวมถึงพื้นที่คาบเกี่ยวโซนราชพฤกษ์ เริ่มส่งสัญญาณการขยายตัวมากขึ้นในระยะต่อไป โดยมีทางด่วน และถนนวงแหวนรอบนอกเชื่อมต่อเขตเมือง รวมถึงมีขยายตัวของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่มากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ซื้อ และผู้ประกอบการ

ผู้ซื้อ : ในช่วงปัจจุบันยังเป็นโอกาสที่ดีในการตัดสินใจซื้อ จากระดับราคาที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และควรพิจารณาเลือกผู้พัฒนาโครงการจากประสบการณ์ และผลงานที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย

ผู้ประกอบการ : จากต้นทุนก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้พัฒนาโครงการควรบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาอัตรากำไร รวมถึงพิจารณาการแข่งขันในบางพื้นที่ที่อาจมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม และนำเทคโนโลยี Smart home ใหม่ ๆ มาปรับใช้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ