SHARE
INDUSTRY INSIGHT
21 มิถุนายน 2023

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 2023 มีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำไปใช้ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า



ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 2023

ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2023 มีแนวโน้มทรงตัว สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอลง

ในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมขยายตัว 5.1%YOY โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และเซมิคอนดักเตอร์

สำหรับปี 2023 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัวจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 0.2%YOY สอดคล้องกับความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากนโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัวต่อเนื่อง และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Consumer electronics ขณะที่ความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทยอยปรับตัวลดลงจากการถูก Disrupt ของ SSD ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และความต้องการคอมพิวเตอร์ที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวใน Cycle รอบนี้ อีกทั้งยังมีแรงฉุดจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทจากไทย

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำไปใช้ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ Consumer electronics ชะลอลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวใน Cycle นี้

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : มูลค่าการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ 5.9%YOY โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรพิมพ์ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ : มูลค่าการส่งออก HDD ในปีนี้มีแนวโนมหดตัวต่อเนื่องที่ -13.1%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการ HDD ที่ลดลงและจากการถูก Disrupt ของการใช้ Solid State Drive (SSD) ในการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น

อุตสาหกรรม Consumer electronics : มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวอยู่ที่ -1.9%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวสำหรับ Cycle ของการซื้อรอบนี้ และกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดโลกที่เริ่มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า : มูลค่าการส่งออกในปีนี้คาดว่าสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.4%YOY โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นที่ใช้ในครัวเรือน และเครื่องซักผ้า ตามลำดับ ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามนโยบายการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจส่งผลให้ไทยส่งออกเครื่องใช้ฟ้าไปยังสหรัฐฯ แทนจีนได้มากขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังหรือ Power electronics  : มูลค่าการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 4.9%YOY ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งในตลาดโลกและอาเซียน 

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาจากสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ กระแสการย้ายฐาน การผลิต และมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ทั้งภาษีและมิใช่ภาษี

ภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์โลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มชะลอลง ประกอบกับอุปทานที่เริ่มเข้ามาเติมในตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าขั้นปลายในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และกระแสการย้ายฐานการผลิต ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการออกกฎหมาย CHIPS act ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อยอดสงครามทางเทคโนโลยี (Tech war) กับจีนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ทั้งนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิตและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

มาตรการกีดกันทางการค้าในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศคู่ค้า ยังคงต้องจับตาการขยายมาตรการ Safeguard เครื่องซักผ้าของสหรัฐฯ ที่ปกป้องการนำเข้าสินค้าเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบของไทย

แรงกดดันด้าน ESG ต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งกฎระเบียบและเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการที่เปลี่ยนไป
 

SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังนี้

กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบและย้ายฐานการผลิต ผู้ประกอบการมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดหาชิ้นส่วนจากประเทศอื่นมากขึ้น รวมถึงมีการวางแผนสต็อกชิ้นส่วนในการผลิตและการจัดทำแผนความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต

พัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของแรงงาน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของแรงงาน ทั้งในส่วนการปรับทักษะ (Reskill) หรือเพิ่มทักษะ (Upskill) รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อยกระดับทักษะด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น

การตั้งเป้าหมายและปฏิบัติตามหลัก ESG โดยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร การวางนโยบายร่วมกับซัพพลายเออร์ของบริษัท และการร่วมมือทางธุรกิจกับ "Eco Partners" ที่ได้รับการรับรองมากขึ้น 

Button-01-(1).jpg
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ