Trust กับระบบสถาบันการเงินไทย
สถาบันการเงินต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ในการปฏิบัติหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน
ความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลาง
“The public’s trust is the Fed’s most important asset”1 หรือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลาง” เป็นคำกล่าวของ คุณเจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการแถลงข่าวหลังสิ้นสุดการประชุมนโยบายของธนาคารกลางเมื่อปลายปี 2022 คำว่า Trust หรือความไว้เนื้อเชื่อใจแม้จะฟังดูนามธรรม แต่สะท้อนถึงองค์ประกอบพื้นฐานในการสนับสนุนให้เกิดธุรกรรมผ่านตัวกลางทางการเงิน หรือ ระบบสถาบันการเงิน ความเชื่อมั่นว่าวันพรุ่งนี้จะมาถึง ความคาดหวังว่ามูลค่าเงินในอนาคตจะไม่สูญหายหรือลดทอนลงจนเกินควร และที่สำคัญที่สุด ความไว้เนื้อเชื่อใจในระบบสถาบันการเงินว่าจะได้รับเงินที่ฝากไว้คืน
บทเรียนตั้งแต่อดีตจนถึงไม่นานมานี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจหมดลง ระบบสถาบันการเงินจะสูญเสียสถานะในการดำเนินการ การล่มสลายของ Silicon Valley Bank (SVB)2 ในเดือนมีนาคม 2023 เป็นหนึ่งในบทเรียนล่าสุด เมื่อ SVB ประกาศขายพันธบัตรขาดทุนจำนวนมากเพื่อกู้สภาพคล่องจากผลกระทบของการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนและลูกค้าของ SVB จนแห่กันไปถอนเงินจนธนาคารขาดสภาพคล่องและถูกสั่งปิดในที่สุด
ตัวอย่างที่สะท้อนความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานของระบบสถาบันการเงิน คือ ตัวเลขจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนมากกว่า 4,100 แห่ง เทียบกับ 353 แห่งในประเทศสหราชอาณาจักร และ 261 แห่งในประเทศเยอรมนี อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้นับว่าน้อยลงมากเมื่อเทียบกับจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 14,500 แห่งในปี 1983 และ ประมาณ 7,700 แห่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 นอกจากวิกฤตการณ์การเงินโลกที่อุบัติขึ้นในช่วงปี 2008-2009 ที่ทำให้ความไว้วางใจในระบบสถาบันการเงินโลกสั่นคลอนจนส่งผลกระทบต่อจำนวนธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงภาวะแล้ว ปัจจัยเชิงโครงสร้างสำคัญ ที่ทำให้มีจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง คือ การปรากฏขึ้นของ ATM กองทุนรวมในตลาดเงิน และการจัดทำ Credit Scoring ที่ทำให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้าทั้งในแง่มุมของช่องทางและข้อมูล จนกระทั่งเปิดโอกาสให้เกิดบริการทางการเงินที่ข้ามข้อจำกัดของภูมิศาสตร์ได้ มลรัฐเมนจึงเป็นมลรัฐแห่งแรกที่อนุญาตให้ธนาคารจากภายนอกมลรัฐเข้ามาประกอบธุรกิจในปี 1978[3]จากที่เดิมธนาคารท้องถิ่นต้องอาศัยความคุ้นเคยจากการรู้จักผู้ใช้บริการเป็นอย่างดีจึงจะสามารถบริหารจัดการสินเชื่อได้ตามความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ขณะที่คนในพื้นที่เองก็มีความรู้จักมักคุ้นธนาคาร จึงยินดีฝากเงินไว้ในความดูแล
ทำไม “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ถึงสำคัญมากในระบบสถาบันการเงิน?
ในด้านหนึ่ง ผู้ฝากเงิน หรือ ผู้ใช้บริการทางการเงินต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงจะเลือกใช้บริการสถาบันการเงิน ในทางตรงกันข้าม สถาบันการเงินเองก็ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ในการปฏิบัติหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน โดยสถาบันการเงินที่ “ทำงานได้เต็มศักยภาพ” ควรมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีประสิทธิภาพจัดสรรทุนได้เหมาะสม มีเสถียรภาพสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน และให้บริการทั่วถึงกับคนทุกระดับความเสี่ยง เมื่อมองกลับมาที่บริบทไทย ตัวเลขสะท้อนว่า สถาบันการเงินไทยมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง แต่ในด้านความทั่วถึง ซึ่งวัดจากสัดส่วนของธุรกิจที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนนั้น คะแนนของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ โดยอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในส่วนของหลักฐานทางการเงิน ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีทั้งประวัติทางการเงินและหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และ การที่สถาบันการเงินไทยมีความกังวลต่อความเสี่ยงจนขาดแรงจูงในการให้สินเชื่อ4
แนวคิดการใช้ “Information-based lending” ในภาคการเงิน ที่ข้อมูลข่าวสาร พฤติกรรม และความเชื่อของคนถูกบันทึกได้จากร่องรอยดิจิทัล จะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินสร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น อย่างไรก็ดี เหรียญมีสองด้าน เทคโนโลยีดิจิทัลก็นำมาซึ่งรูปแบบอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปจาก Offline เป็น Online อาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ จนนำไปสู่การหลอกลวงให้โอนเงินหรือให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องเพื่อดูดเงิน ซึ่งยอดเคสแจ้งความออนไลน์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีมากถึง 2 แสนกว่าคดี นับเป็นความเสียหายมากกว่าสามหมื่นล้านบาท5 ทำให้ผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปเองก็เริ่มมีความกังวลและลดทอนความเชื่อมั่นในการให้ข้อมูลดิจิทัลแก่สถาบันการเงิน หรือ อาจเลวร้ายถึงขั้นสร้างความหวาดกลัวต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นโอกาสของทั้งสถาบันการเงินและตัวผู้ใช้บริการทางการเงินเองในที่สุด
ในการนี้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารเองไม่ได้นิ่งนอนใจและกำหนดให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีความสำคัญสูงสุดของระบบสถาบันการเงินไทย เพราะหากวันนึงมีระบบการให้บริการทางการเงินทางเลือกหรือเทคโนโลยีที่สามารถให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้งานในการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้แม้ไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงินเกิดขึ้น ผลกระทบต่อบทบาทความสำคัญของระบบสถาบันการเงินคงมีมหาศาล อย่างไรก็ดี ความร่วมมือภายในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารเองยังไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ได้ผลเกิดขึ้นจริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่จากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เป็นช่องทางหลักในการเกิดอาชญากรรมออนไลน์ และหน่วยงานต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย กลไกสำคัญนอกจากยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีความชำนาญแตกต่างกันอย่างมากแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างองค์กรจะเป็นกุญแจสำคัญในการเรียกความมั่นใจของประชาชนกลับมาได้ในที่สุด อันจะเอื้อให้สถาบันการเงินยังทำหน้าที่ฟันเฟืองหลักในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
1 https://www.reuters.com/markets/us/powell-says-fed-officials-recommitted-meeting-new-ethics-standards-2022-11-02/
2 https://edition.cnn.com/2023/03/10/investing/svb-bank/index.html#:~:text=Silicon%20Valley%20Bank%20collapsed%20Friday%20morning%20after%20a,control%20of%20the%20US%20Federal%20Deposit%20Insurance%20Corporation.
3 The Economist Explains (2023). Why America has so many banks. https://www.economist.com/the-economist-explains/2023/05/26/why-america-has-so-many-banks
4 สมประวิณ มันประเสริฐ (2566). ระบบสถาบันการเงินไทย: ทำงานได้เต็มศักยภาพแล้วหรือยัง. https://www.pier.or.th/en/abridged/2023/09/#finance
5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 2566. “คดีออนไลน์ สะสม 1 มี.ค. 2565 – 18 ก.พ. 2566”
________
เผยแพร่ในบทความไทยรัฐออนไลน์วันที่ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2023