นวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าว โอกาสที่ไม่ควรมองข้ามในพื้นที่ EEC
ความจำเป็นเร่งด่วนในการยับยั้งวิกฤติโลกร้อน ส่งผลให้การลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ
กระบวนการปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซมีเทน
ข้าว ถือเป็นอาหารหลักของประชากรกว่าครึ่งโลกและมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน กระบวนการปลูกข้าวก็เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยมีการปล่อยก๊าซมีเทนมากถึงราว 10% ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกในปี 2018 ซึ่งก๊าซมีเทนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความรุนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ถึง 80 เท่า ทั้งนี้หากดูข้อมูลของไทยในปี 2019 จะพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาข้าวมีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมทั้งหมด หรือคิดเป็น 7.7% ของปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ
การยับยั้งวิกฤติโลกร้อน
ความจำเป็นเร่งด่วนในการยับยั้งวิกฤติโลกร้อน ส่งผลให้การลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ นักวิทยาศาสตร์พบว่า การลดการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นทางออกที่ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุดในการชะลอภาวะโลกร้อนในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากก๊าซมีเทนมีอายุในชั้นบรรยากาศเพียง 12 ปี แตกต่างจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลานานกว่า 100 ปี ซึ่งองค์การสหประชาชาติ พบว่า การลดการปล่อยก๊าซมีเทนโลกลง 45% ภายในปี 2030 จะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิโลกได้ราว 0.3 องศาเซลเซียส ในปี 2045 ทั้งนี้ความท้าทายของการลดก๊าซมีเทนในนาข้าว คือ ยังไม่มีการค้นพบนวัตกรรมที่จะทำให้เกษตรกรยอมรับอย่างแพร่หลายได้ ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้ง ซึ่งจะช่วยลดก๊าซมีเทนลงเมื่อเทียบกับการทำนาแบบมีน้ำขังตลอดเวลา ยังไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากพึ่งพาน้ำฝนในการทำนา ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะมีน้ำกลับมาใส่นาหลังจากที่ระบายน้ำออกไปแล้ว
EEC มีโอกาสเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนานวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าว
เนื่องจาก 1) การลดก๊าซมีเทนในนาข้าวจะต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเกษตร โดยในปัจจุบันเริ่มมีบริษัทต่างชาติให้ความสนใจลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าวแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน ต.ค. 2022 Breakthrough Energy ซึ่งเป็นกองทุนของ Bill Gates ได้มีการประกาศความร่วมมือกับองค์กร เช่น Temasek เพื่อก่อตั้งสตาร์ตอัปที่จะช่วยหานวัตกรรมในการลดก๊าซมีเทนในนาข้าว 2) เขตพื้นที่ EEC มีการปลูกข้าวอยู่ราว 237,000 ไร่ ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับทดลองนวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ และ 3) EEC มีกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร ซึ่งจากเหตุผลทั้ง 3 ข้อทำให้ SCB EIC มองว่า พื้นที่ EEC มีศักยภาพที่จะนำนวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าวโลกมาทดลองใช้ โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดึงดูดให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมมือกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าว
โลกของเรากำลังเผชิญภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ ซึ่งหากเราไม่เร่งแก้ไข ก็มีโอกาสสูงที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยการพัฒนาและเผยแพร่นวัตกรรมลดก๊าซมีเทนในนาข้าว นอกจากจะช่วยยับยั้งวิกฤติโลกร้อนแล้ว ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจการเกษตรของไทยเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อีกด้วย
________
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 9 พฤษภาคม 2023