SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 สิงหาคม 2013

SHADOW BANKING (ภาคธนาคารเงา)

SHADOW BANKING (ภาคธนาคารเงา)

ผู้เขียน: เกษมสุข ทักษาดิพงศ์

 158673029.jpg

Shadow banking หรือภาคธนาคารเงา
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2556


"The committee believes the revised standard will more appropriately reflect the risk of a fund's underlying investments and its leverage. The revised standard will also address risk associated with banks' interactions with shadow banking entities." The Basel committee said in a statement.

ที่มา: Reuters (July 5, 2013) 

 Shadow banking คืออะไร?

Shadow banking หรือภาคธนาคารเงานั้น หมายถึงกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติแต่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน การจัดการสภาพคล่องและระยะเวลาชำระหนี้ การรับโอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และการใช้ Financial leverage ทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังรวมไปถึงธุรกรรมการจัดหาเงินทุนขององค์กรเหล่านี้อีกด้วย1  โดยมีตัวอย่างเช่น องค์กรเฉพาะกิจ (Special Purpose Entities: SPEs) วาณิชธนกิจ (Investment banking) บริษัทประกัน (Insurances) กองทุนรวม (Mutual Funds) และการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธนาคารเงาจะทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการทำธุรกรรมของธนาคารในระบบเนื่องจากอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างผ่อนคลายกว่า ธนาคารในระบบบางแห่งจึงอาศัยช่องว่างดังกล่าวในการหาประโยชน์จากข้อจำกัดทางกฎหมาย (Regulatory arbitrage) โดยการจัดตั้งธนาคารเงาขึ้นมาคอยทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงแทนตนเอง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสในการนำเงินทุนไปหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการหลบเลี่ยงข้อบังคับอย่างเช่นการตั้งเงินสำรองตามกฎหมาย (Reserve requirement) และการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Loan loss provision) แล้ว ลักษณะความเป็นนิติบุคคลของธนาคารเงายังสามารถจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธนาคารในระบบได้เช่นกัน จึงทำให้ภาคธนาคารเงาสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วตลอดช่วงที่ผ่านมา

 Shadow banking มีบทบาทต่อภาคการเงินอย่างไร?

ในยามที่ธนาคารในระบบไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ธนาคารเงาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินมากขึ้นเนื่องจากธนาคารเงานั้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระดมเงินทุนไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารในระบบอย่างเพียงพอ จึงนับได้ว่าเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจที่ยังขาดโอกาสเมื่อต้องพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารในระบบ อีกทั้งยังสร้างทางเลือกให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการได้เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในส่วนของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง และการเข้ามาแข่งขันของธนาคารเงานั้นยังช่วยกระตุ้นให้ธนาคารในระบบเร่งปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งทำให้โดยรวมแล้วผู้เล่นทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์จากการลดลงของต้นทุนการทำธุรกรรมเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าภาคธนาคารเงานั้นสามารถช่วยเข้ามาเสริมการทำงานของระบบการเงินให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารในระบบเพียงส่วนเดียว

 แล้วทำไม Shadow banking จึงมีความน่ากังวล?

แม้ว่าภาคธนาคารเงาในปัจจุบันนั้นจะมีความสำคัญต่อตลาดการเงินไม่น้อยไปกว่าธนาคารในระบบ แต่ความแตกต่างในการกำกับดูแลจากธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้เองที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ เนื่องจากการระดมเงินทุนของธนาคารเงามักจะมีลักษณะเป็นการระดมทุนระยะสั้นคล้ายกับการระดมเงินทุนผ่านเงินฝากของธนาคารแบบดั้งเดิม จึงทำให้มีความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุนพร้อมกันอย่างฉับพลันมากกว่าธนาคารในระบบเพราะไม่จำเป็นต้องตั้งเงินสำรองเหมือนดังเช่นธนาคารเหล่านี้ ในขณะที่ธุรกรรมส่วนใหญ่ของธนาคารเงานั้นมีระดับการทำ Financial leverage ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีการระดมเงินทุนจากการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์เกิดเป็นวงจรอีกหลายครั้ง โดยที่สินทรัพย์ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ดังกล่าวส่วนใหญ่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับสินทรัพย์ของธนาคารเงาแห่งอื่นอีกหลายทอด แต่ในทางกลับกัน การกำกับในส่วนของภาคธนาคารเงากลับมีความเข้มงวดไม่มากนักซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากโครงสร้างวิศวกรรมทางการเงินที่มีความซับซ้อนสูงเกินกว่าความเข้าใจของผู้เล่นทั่วไปและอีกส่วนจากโครงสร้างกฎหมายทางการเงินที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอทำให้ภาคธนาคารเงาเกิดแรงจูงใจในการทำธุรกรรมที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (Moral hazard) ส่งผลให้ภาคการเงินที่มีภาคธนาคารเงาขนาดใหญ่เกิดความเปราะบางเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ความแตกต่างในการกำกับดังกล่าวยังสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารในระบบมีการทำธุรกรรมที่เป็นการหลีกเลี่ยงข้อบังคับมากขึ้นอย่างเช่นการโอนความเสี่ยงออกไปนอกธนาคารผ่านการขายบัญชีลูกหนี้เงินกู้ออกไปยังกลุ่มธนาคารเงาในเครือเพื่อนำไปแปลงเป็นหลักทรัพย์ขายให้กับนักลงทุน การให้สินเชื่อโดยตรงกับธนาคารเงาในเครือเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อไปยังผู้ขอสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ หรือแม้แต่การใช้ข้อได้เปรียบของระบบธนาคารในการเข้าถึงผู้ใช้บริการเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของธนาคารเงาในเครือ ซึ่งธุรกรรมเหล่านี้จะทำให้มีการประเมินความเสี่ยงของธนาคารในระบบต่ำกว่าความเป็นจริงซึ่งหากเกิดวิกฤตในภาคธนาคารเงาขึ้นมาก็จะส่งผ่านมายังธนาคารในระบบอย่างรวดเร็วและลุกลามเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด

 Shadow banking ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของจีนอย่างไร?

เนื่องจากโครงสร้างของธนาคารในระบบของจีนนั้นจะกระจุกตัวอยู่กับธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นของรัฐ ทำให้สภาพคล่องที่ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China: PBoC) ปล่อยออกมาผ่านการทำธุรกรรมกับธนาคารในระบบตกอยู่กับธนาคารเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 4 ล้านล้านหยวนโดยผลักดันให้ธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ดังนั้นธนาคารในระบบขนาดเล็กจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพคล่องจากการทำธุรกรรมกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank transactions) และจากการออกผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Wealth Management Products: WMPs) ที่มีลักษณะคล้ายกับการฝากเงินที่ได้รับอัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากทั่วไปโดยจะอ้างอิงจากหลักทรัพย์ที่มีความหลากหลายแต่ไม่มีความแน่ชัดของแหล่งที่มา จึงเกิดความเสี่ยงต่อนักลงทุนทั่วไปที่หันมานำเงินฝากไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ขณะที่ธนาคารในระบบขนาดใหญ่ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อนำไปปล่อยกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้โดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารในระบบเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและยังทำให้เกิดการบิดเบือนตลาดเนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่มีประสิทธิภาพยังคงแย่งทรัพยากรไปจากธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงกว่า

นอกจากนั้นแล้ว ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินโดยตรงจากธนาคารในระบบ หรือออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น (Municipal bonds) หรือระดมเงินทุนผ่านช่องทางอื่นเองได้ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจที่เรียกว่า Local Government Financing Vehicles หรือ LGFVs ขึ้นมาจัดหาเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่ได้วางแผนไว้ อย่างไรก็ดี การลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นผ่าน LGFVs จะส่งผลต่อการประเมินระดับหนี้สาธารณะที่แท้จริงเนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมที่อยู่ในภาคธนาคารเงาจึงอาจจะทำให้ขาดการควบคุมอย่างเหมาะสมจากส่วนกลาง ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารกลางจีนจึงส่งสัญญาณเตือนไปยังภาคธนาคารเงาโดยหยุดการปล่อยสภาพคล่องให้กับธนาคารในระบบจนส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (7-day repo rate) เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ราว 11.2% ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อให้ภาคการเงินมีความระมัดระวังในการทำธุรกรรมซ่อนเร้นเหล่านี้มากขึ้นนั่นเอง

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ