Cybersecurity…อีกหนึ่งกระแสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม
Cybersecurity ของไทย ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก โดย Statista คาดการณ์มูลค่าตลาดด้าน Cybersecurity ของไทยจะเติบโตที่ 12% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ หรือ Cybersecurity นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญภายใต้การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจัดอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ที่น่าจับตามองและจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจ โดยจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจต่าง ๆ เติบโตต่อเนื่องบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีความคล่องตัว เนื่องจากในปัจจุบันภาคธุรกิจต่างเร่งลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ต (IOT) รวมถึงเทรนด์ของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work form anywhere) ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ มีการใช้บริการ Cloud computing มากขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นที่ความเสี่ยงในด้านไซเบอร์จะมีโอกาสเกิดได้ง่ายขึ้น ทั้งการรั่วไหลหรือการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ผู้ประกอบการจึงหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในด้าน Cybersecurity มากขึ้น สะท้อนได้จากการที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกยอมจ่ายเงินลงทุนมากขึ้นสำหรับงบประมาณในด้านเครื่องมือและซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากแฮกเกอร์ ทั้งนี้จากข้อมูลผลสำรวจของ Gartner พบว่า ผู้บริหารธุรกิจ 9 ใน 10 บริษัทในสหรัฐฯ เห็นว่า Cybersecurity เป็นหนึ่งในความเสี่ยงของภาคธุรกิจ (Business risk) ที่ต้องมีการบริหารจัดการ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านไอทีแต่เพียงอย่างเดียว
แนวโน้มการลงทุนด้าน Cybersecurity
แนวโน้มในระยะข้างหน้า การลงทุนในด้าน Cybersecurity จะทวีความสำคัญและแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้นจากความก้าวหน้าของแฮกเกอร์ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งผลให้ผู้พัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนอกเหนือจากบริษัทชั้นนำด้านไอทีที่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้าน Cybersecurity แล้ว กลุ่ม Startup ต่าง ๆ มีแนวโน้มให้ความสนใจในการพัฒนาโซลูชันด้าน Cybersecurity โดยนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น ทั้งนี้ CB Insight ระบุว่าการลงทุนของ Venture capital ทั่วโลกในด้าน Cybersecurity เติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 โดยเทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยตรวจจับความผิดปกติที่มาจากการโจมตีทางไซเบอร์ได้ครอบคลุมและช่วยให้การแก้ไข กู้ข้อมูลคืนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทรนด์การลงทุนในด้าน Cybersecurity ที่น่าจับตามองยังมาจากด้าน Cybersecurity insurance ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารความเสี่ยงด้าน Cyber โดย Startup ใหม่ ๆ จะร่วมมือกับบริษัทประกันในการนำเอา AI มาใช้ประกอบการพิจารณาความเสี่ยงด้านไซเบอร์และออกแบบแผนประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ
แนวโน้มตลาด Cybersecurity ของไทย
สำหรับแนวโน้มตลาด Cybersecurity ของไทย ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก โดย Statista คาดการณ์มูลค่าตลาดด้าน Cybersecurity ของไทยจะเติบโตที่ 12% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2022-2027) มาอยู่ที่ราว 518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027 โดยตลาดหลักจะมาจากโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญลงทุนในด้านนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคธุรกิจ นอกจากการเตรียมพร้อมในการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นและเตรียมพร้อมในด้านการลงทุนแล้ว หลายองค์กรยังขาดเครื่องมือ องค์ความรู้ และบุคลากรด้าน Cybersecurity ค่อนข้างมากซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความมั่นคงด้าน Cybersecurity รวมถึงการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่ในส่วนของโครงการ Digital Park Thailand (EECd) ได้มีแผนในการพัฒนานวัตกรรมและบุคลากรในด้าน Cybersecurity ผ่านความร่วมมือกับส่วนงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แบบเฉพาะเจาะจงเพื่อดึงดูดผู้ประกอบการด้านดิจิทัลเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระยะยาว
________
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 14 มีนาคม 2023