SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 กุมภาพันธ์ 2012

Domestic Demand

อุปสงค์ในประเทศ

ผู้เขียน:  ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล และ พรเทพ ชูพันธุ์

 158673029.jpg

อุปสงค์ในประเทศ (Domestic Demand)  

ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555
โดย ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล และ พรเทพ ชูพันธุ์

ถึงแม้ว่า ยังมีปัญหาน้ำท่วมที่ต้องเผชิญ แต่รัฐบาลยังคงคาดหวังที่จะเห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 4.5 ไป 5.5 ในปีนี้เนื่องจากจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบรากฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแรง และระดับเงินสำรองระหว่างประเทศยังคงสูงอยู่ที่ประมาณ 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีความชำนาญและมีคุณภาพ  รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะสนับสนุน อุปสงค์ในประเทศ ผ่านการลงทุนและการใช้จ่ายของรัฐบาล ได้มีการวางแผนโครงการต่างๆ รวมถึงโครงการขนส่งขนาดใหญ่และโครงการสาธารณูปโภค เพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงในระดับชาติและภูมิภาค

ที่มา: www.thaigov.go.th (17 มกราคม 2555)

อุปสงค์ในประเทศ (Domestic demand) คืออะไร?

อุปสงค์ในประเทศ (Domestic demand) อาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ความต้องการใช้จ่ายในประเทศ เป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  (GDP)  ซึ่งอุปสงค์ในประเทศดังกล่าว ประกอบไปด้วย การใช้จ่ายด้านบริโภค (Consumption expenditure) และการใช้จ่ายลงทุน (Investment) ของทั้งภาคเอกชน (Private) และภาครัฐ (Public) โดยสิ่งที่แตกต่างจาก GDP ก็คือ อุปสงค์ในประเทศนั้นไม่ได้นำภาคการค้าขายกับต่างประเทศเข้ามาคำนวณด้วย เพราะต้องการเน้นพิจารณาไปที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความต้องการภายในประเทศเท่านั้น ในขณะที่ GDP จะวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความต้องการทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้อุปสงค์ในประเทศของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ซึ่งประกอบไปด้วยการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Expenditure) ร้อยละ 50 ของ GDP   การลงทุนภาคเอกชน (Private Investment) ร้อยละ 15  การบริโภคภาครัฐ (Public Consumption) ร้อยละ 10 และ การลงทุนของภาครัฐ (Public Investment) ร้อยละ 5

เหตุใดจึงต้องสนใจอุปสงค์ในประเทศ ทั้งๆ ที่เราก็มี GDP ให้ดูอยู่แล้ว?

สำหรับผู้ประกอบการ การดูเฉพาะตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวอาจให้ภาพเศรษฐกิจที่ผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าการส่งออก อย่างเช่น  ธุรกิจค้าขาย ขนส่ง ก่อสร้าง จะเติบโตได้ดีหรือไม่นั้นล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในประเทศไทย มากกว่าจะขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ภายนอก  ซึ่งในบางครั้งการเติบโตของ GDP ไทยอาจถูกขับเคลื่อนด้วยการขยายตัวของภาคการส่งออกมากกว่ากิจกรรมการใช้จ่ายในประเทศ ดังนั้น การพิจารณา GDP โดยรวม อาจไม่สะท้อนปัจจัยที่เฉพาะเจาะจงสำหรับธุรกิจดังกล่าวอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2009  (รูปที่ 1) ถึงแม้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะออกมาดี GDP โดยรวมขยายตัวถึงเกือบ 6% แต่ก็เป็นตัวเลขที่เหมือนจะหลอกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากภาคธุรกิจในประเทศแทบจะไม่รู้สึกถึงความคึกคักทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นเท่าใดนัก

นั่นเป็นเพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในตอนนั้นเกือบทั้งหมด มาจากการส่งออก  โดยสินค้าส่งออกหลักๆของไทยกว่า 40% คือสินค้าประเภทยานยนต์และเครื่องจักรกลต่างๆ  ซึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนในการจ้างงานเพียง 1-2% ของกำลังแรงงานทั้งหมดของไทยเท่านั้น  ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้แรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกในครั้งนั้น จึงเป็นการเติบโตแบบที่สวยแต่ตัวเลข แต่แทบไม่ค่อยทำให้คนทั่วไปรู้สึกมั่งคั่งหรือรู้สึกถึงความคึกคักทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก  

ทั้งนี้ ในทางกลับกันถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจได้แรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic demand) ซึ่งก็คือการบริโภคและการลงทุนในประเทศ  อย่างเช่นตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2010  คนส่วนใหญ่ในประเทศจะรู้สึกได้ถึงการกระจายของรายได้ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โตอย่างมีคุณภาพ  คนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับผลประโยชน์ และสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจในประเทศสัมผัสได้จริงมากกว่าการเติบโตแบบที่ขับเคลื่อนโดยการส่งออก

ใครควรให้ความสำคัญกับอุปสงค์ในประเทศมากเป็นพิเศษ ?

คำตอบคือ ทุกคนที่มีธุรกิจหรือรายได้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ  รวมถึงเจ้าของกิจการหรือพนักงานฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องวางแผนธุรกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าและบริการภายในประเทศ  ซึ่งควรจะต้องพิจารณาวางแผนการขายสินค้าและบริการรวมถึงการขยายกิจการ โดยพิจารณาจากอุปสงค์ในประเทศมากกว่าจะดูจาก GDP โดยรวมแต่เพียงอย่างเดียว  โดยควรจะพิจารณาว่าความต้องการใช้จ่ายในประเทศน่าจะเป็นเช่นไร  การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตดีหรือจะชะลอตัว  จะมีแรงกระตุ้นจากภาครัฐมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์ยอดขาย หรือวางแผนขยายกิจการต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการดูตัวเลข GDP รวมๆ  นอกจากนี้ ในส่วนของนักลงทุนที่สนใจในกิจการที่เน้นขายสินค้าและบริการในประเทศก็ควรที่จะพิจารณาอุปสงค์ในประเทศเช่นเดียวกัน เพราะสามารถวิเคราะห์แนวโน้มผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นได้ดีกว่าการใช้ตัวเลขประมาณการ GDP ที่อาจขยายตัวจากการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งจะไม่ได้มีผลดีต่อธุรกิจของท่านมากนัก

อะไรเป็นปัจจัยที่จะบ่งบอกได้ว่าอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มจะดีหรือไม่?

ที่สำคัญอย่างแรกเลยคืออัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศได้ เนื่องจากในมุมมองของคนฝากเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ความรู้สึกคุ้มค่าในการเก็บออมเงินลดลง ทำให้คนนำเงินมาใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น และในมุมมองของภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเป็นการลดต้นทุนทางการเงินทำให้มีการตัดสินใจลงทุนเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือปัจจัยทางด้านราคา นั่นคือ อัตราเงินเฟ้อ หรือ ค่าครองชีพ โดยราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็จะทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง โดยในอดีตที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมัน เนื่องจากเป็นต้นทุนพลังงานทั้งด้านการผลิตและการขนส่ง ดังนั้นถ้าหากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศชะลอตัวลงได้

การกระตุ้นจากภาครัฐก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ในยามที่เศรษฐกิจถดถอย มีคนว่างงานมาก แรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนโดยภาคเอกชนอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐเองทั้งการบริโภคและการลงทุน หรือเพิ่มเงินในกระเป๋าของคน อย่างเช่นการแจกเช็คช่วยชาติ หรือการลดภาษีต่างๆ  เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวได้ดี

อุปสงค์ในประเทศจะดีหรือไม่ในปี 2555 นี้? 

ปัจจัยต่างๆ บ่งบอกว่า อุปสงค์ในประเทศน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้   เริ่มจากช่วงต้นปีที่จะมีการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟู หลังน้ำลด ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาลด้วยการออกพระราชกำหนดเงินกู้เพื่อการบูรณะและซ่อมแซมประเทศ ราว 3.5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% เพื่อลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจ  สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอตัวกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยหลักอย่างราคาน้ำมันในปี 2555 ไม่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นแล้วและอาจมีแนวโน้มที่จะลดลงได้หากมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ  ดังนั้น ปัจจัยต่างๆดังกล่าวข้างต้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่ออุปสงค์ในประเทศที่น่าจะเติบโตได้ดีในปีนี้

2778_20120301154129.jpg

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ