Cruise Terminal…ก้าวสำคัญสู่การเป็นฮับท่องเที่ยวเรือสำราญของไทย
การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญที่มุ่งสู่การเป็นท่าเทียบเรือหลักที่ได้มาตรฐานและเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมถือเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
ต้นเดือนพฤศจิกายน 2022 เรือสำราญ M.V. Viking Orion สัญชาตินอร์เวย์เดินทางจากสิงคโปร์มาแวะพักบริเวณท่า A-1 ในท่าเรือแหลมฉบัง นำนักท่องเที่ยวเข้ามาใน จ.ชลบุรี กว่า 900 คนและคาดว่าในปี 2023 จะมีเรือสำราญมาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังอีกราว 30 ลำ ซึ่งท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของ EEC ตามแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเรือสำราญเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วและมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกในอนาคต
เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักคือชาวอเมริกัน (15%) และยุโรป (8%) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อและยังเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่ประกาศเปิดประเทศ จึงทำให้การท่องเที่ยวเรือสำราญฟื้นตัวได้เร็วสอดคล้องกับข้อมูลของ Royal Caribbean Cruise ที่ยอดการจองกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้วในเดือนตุลาคม 2022 แม้จะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อก็ตาม อีกทั้ง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีความต้องการท่องเที่ยวสูง สะท้อนจากผลสำรวจของ Cruise Lines International Association (CLIA) ในเดือนกันยายน 2022 พบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือสำราญในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจะกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง และ 66% ของนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยท่องเที่ยวเรือสำราญจะเปิดรับการท่องเที่ยวรูปแบบนี้มากขึ้น ส่งผลให้ตัวแทนด้านการท่องเที่ยวต่างแข่งกันนำเสนอแพ็กเกจ Fly-Cruise โดยเส้นทางยอดนิยมยังคงเป็นทะเลแคริบเบียนตามด้วยเมดิเตอร์เรเนียน และเอเชีย
ที่ตั้งของท่าเทียบเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ รวมถึงการเปิดโอกาสให้บริษัทเรือสำราญเข้ามาลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ท่าเทียบเรือสำราญประสบความสำเร็จ
ที่ผ่านมา Marina Bay Cruise Centre ของสิงคโปร์ถูกเลือกให้เป็นท่าเทียบเรือหลัก (Home port) ของภูมิภาคและถือเป็น 1 ใน 3 ท่าเทียบเรือสำราญที่สำคัญของโลก ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง Marina Bay Sands ที่มีทั้งโรงแรม ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ และกาสิโน อีกทั้ง ยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปพื้นที่ใกล้เคียงได้สะดวก ประกอบกับความพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานสามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ 2 ลำในเวลาเดียวกัน รวมถึงการให้บริการ Sea to Air ทั้งการ Check-in และการขนย้ายกระเป๋าเดินทางจากท่าเทียบเรือไปสนามบิน นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือที่ประสบความสำเร็จยังเกิดจากการที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทเรือสำราญเข้ามาลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือหลัก อย่างเช่น PortMiami ที่รัฐบาล Miami เปิดให้ Royal Caribbean Cruise เข้ามาลงทุนพัฒนาท่า Terminal A ซึ่งทำให้ท่านี้กลายเป็นท่าเทียบเรือหลักของบริษัทและยังเป็นท่าเทียบเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และ Royal Caribbean Cruise ยังมีแผนลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญในอีกหลายพื้นที่อย่าง Ravenna ในอิตาลี และ St. Thomas ใน U.S. Virgin Islands ซึ่งจะทำให้ท่าเทียบเรือดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในท่าเรือหลักของบริษัทในอนาคต
ปัจจุบันท่าเทียบเรือสำราญใหม่อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบ ดังนั้น การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญที่มุ่งสู่การเป็นท่าเทียบเรือหลักที่ได้มาตรฐานและเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมถือเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญของภูมิภาคได้
________
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023