ผู้เขียน: พรเทพ ชูพันธุ์
Exit strategy (การดำเนินนโยบายแบบกลับลำ)
"หลังจากผ่านพ้นวิกฤติเต็มรูปแบบมากว่าขวบปี เศรษฐกิจโลกได้ส่งสัญญาณของการฟื้นตัวในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย พัฒนาการดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า เมื่อใดนานาประเทศที่ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุกเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา จะจัดทำแนวทางในการถอนตัวออกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategy)" |
Exit Strategy คืออะไร?
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราคงจะเริ่มได้ยินประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "Exit Strategy" กันอย่างหนาหูมากขึ้น ทำให้หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า Exit Strategy ที่พูดถึงกันในที่นี้ จริงๆ แล้วมันคืออะไร แล้วทำไมจึงต้อง Exit ซึ่งหากจะแปลง่ายๆ ตรงๆ Exit Strategy ก็คือ "กลยุทธ์ในการออก" แต่ออกจากอะไร...
ซึ่งความหมายในที่นี้คือ "การกลับลำหรือออกจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเดิมๆ และเปลี่ยนไปทำนโยบายในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน ซึ่งในบริบทที่พูดถึงนี้ คือ การเปลี่ยนจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาเป็นเข้มงวดมากขึ้นนั่นเอง"
แล้วทำไมในขณะนี้จึงเริ่มมีการพูดถึง Exit Strategy กันมากขึ้น?
ท่านผู้อ่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งที่เพิ่งผ่านมาได้นำมาสู่ความล่มสลายและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องพร้อมใจกันหยิบยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วนและทันท่วงที
การให้ความช่วยเหลือในที่นี้ก็คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (Easing Monetary Policy) เพื่อเอื้อให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตนหลุดพ้นจากภาวะถดถอยและฟื้นตัวขึ้นได้อย่างเร็วที่สุด ยกตัวอย่างเช่น กรณีของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า ภายหลังวิกฤติ Fed ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ลงเหลือใกล้ศูนย์ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์มายาวนานกว่า 1 ปีแล้ว รวมทั้งยังได้เข้าไปปล่อยกู้และอัดฉีดสภาพคล่องโดยตรงให้กับภาคธุรกิจ (Quantitative Easing : QE) แทนระบบสถาบันการเงินซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
นอกจากนี้ ยังได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหนี้สินจำนวนมหาศาลจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งที่ประสบปัญหา สะท้อนได้จาก Balance Sheet ของ Fed ที่บวมขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่ง เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาวะเศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะถดถอยโดยเร็ว
แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเป็นลำดับของเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากที่หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในช่วงกว่าขวบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจึงเริ่มจะลดน้อยลงเป็นเงาตามตัวไปด้วย ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงเริ่มวางแผนที่จะออกหรือกลับลำจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเดิมๆ
โดยก่อนหน้านี้ ได้มีสัญญาณของการเริ่มกลับลำให้เห็นจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่ปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยด้วยการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Cash Rate โดย RBA ได้ให้เหตุผลว่า อัตราเงินเฟ้อได้เข้าใกล้ระดับเป้าหมาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นช่วงของการหดตัวไปแล้ว
ดังนั้น Exit Strategy จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่ต้องทำในจังหวะและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อสร้างความสมดุลและเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจและหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
ผลกระทบจากการถอนคันเร่งนโยบายการเงิน
แน่นอนว่า "การถอนคันเร่ง" หรือ "การดำเนินนโยบายการเงินแบบกลับลำ" ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และ Momentum ของการฟื้นตัว ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ต้องกลับมานั่งคิดทบทวนให้กระจ่างก็คือ "เมื่อใด คือ ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการถอนคันเร่ง เพื่อไม่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นไข้ได้รับผลกระทบและกลับไปทรุดหนักลงเหมือนเดิมอีกครั้ง"
ที่น่าสนใจก็คือ หากธนาคารกลางดำเนินนโยบายแบบกลับลำเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลงได้ เพราะการทำนโยบายการเงินเชิงรุกด้วยการดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว ย่อมเป็นการกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการขยับขึ้นและเริ่มสะท้อนถึง Exit Strategy ในระดับหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และทิศทางค่าเงิน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวที่ยังเปราะบาง
แต่ในขณะเดียวกัน หากธนาคารกลางกลับลำช้าเกินไป ก็จะทำให้เกิดปัญหา "Moral Hazard" ในระบบเศรษฐกิจ จากการที่ธนาคารกลางเข้าไป "อุ้ม" สถาบันการเงิน รวมทั้งอาจก่อให้เกิด "Side Effect" ต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างปัญหาระลอกใหม่ในระบบเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องของเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) จากการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำนานเกินไป
รวมไปถึงสภาพคล่องที่ล้นระบบจาการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจนอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่และการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งการเก็งกำไรในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)
ดังนั้น "Appropriate Timing" หรือ เงื่อนเวลาที่เหมาะสมในการถอนคันเร่งนโยบายการเงิน จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่มีความท้าทายวิสัยทัศน์ของผู้กุมบังเหียนนโยบายการเงินของประเทศ เพื่อกอบกู้และเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
แล้ว Exit Strategy จะเกิดขึ้นเมื่อใด?
เราเชื่อว่า Exit Strategy คงจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่แนวโน้มของการฟื้นตัวยังคงเปราะบาง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบสถาบันการเงินเองก็ยังไม่มีความแข็งแกร่งพอที่กลับมาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นปกติได้อย่างเดิม ซึ่งทำให้เราเชื่อว่า การถอนคันเร่งนโยบายการเงินโดยเฉพาะนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า Timing ว่าจะเร็วหรือช้าก็คือ การ Coordinate กันระหว่างธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการ Exit เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลก ที่อาจจะนำไปสู่ภาวะการหยุดเติบโตแบบชะงักงัน (Hard Landing) หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกครั้ง