ผู้เขียน: โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์
สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร Generalised System of Preferences (GSP)
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2555
โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์
"บุญทรง สั่งเร่งเจรจา FTA ไทย-ยุโรปภายในปีนี้ หวังแก้เกมอียูตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปี 2558 ชิมลางสินค้า 4 กลุ่ม รถยนต์-กุ้งต้มสุก-อาหารปรุงแต่ง-อัญมณี/เครื่องประดับ" ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ (8 กรกฎาคม 2555) |
GSP คืออะไร
Generalised System of Preferences (GSP) คือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยลดหรือยกเว้นภาษีขาเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในกลุ่มได้รับสิทธิ โดยสหภาพยุโรปมีหลักเกณฑ์สำหรับประเทศที่ได้รับสิทธิดังนี้:
1) ไม่เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง (High-income countries) หรือกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) จากการจัดลำดับโดยธนาคารโลกเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันก่อนการพิจารณาจัดทำบัญชีประเทศที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งตามเกณฑ์ของธนาคารโลกประเทศที่จะได้รับสิทธิจะต้องมีรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากรไม่เกิน 3,975 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ
2) ไม่เป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากความตกลงพิเศษทางด้านการค้า เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area; FTA)
นอกจากนี้หากสินค้าที่ได้รับสิทธิสินค้าใดมีส่วนแบ่งการตลาดของประเทศผู้ได้รับสิทธิเกิน 17.5% (หรือ 14.5% สำหรับกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) ของมูลค่าการนำเข้ารวมจากประเทศผู้ได้รับสิทธิ GSP ทั่วโลก จะถูกตัดสิทธิ GSP ในสินค้านั้นตามเงื่อนไขการตัดสิทธิเป็นรายสินค้า (Product Graduation)
โดยไทยจะถูกตัดสิทธิเป็นรายสินค้าในวันที่ 1 มกราคม 2014 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2015 เป็นต้นไปจะถูกตัดสิทธิตามหลักเกณฑ์รายได้เนื่องจากปัจจุบันไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง
การปฏิรูประบบ GSP ของสหภาพยุโรปที่ผ่านมากระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง
การถูกตัดสิทธิจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา โดยการถูกตัดสิทธิเป็นรายสินค้า (Product graduation) สามารถจำแนกสินค้าส่งออกตามความรุนแรงของผลกระทบได้เป็น 4 กลุ่มสินค้าดังนี้
1) กลุ่มสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ผงมัสตาร์ด เครื่องแกงสำเร็จรูป เป็นต้น
2) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เช่น ท้อ เส้นหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว และวุ้นเส้น เป็นต้น
3) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น เลนส์แว่นตา อาหารสุนัขหรือแมว ยางรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
4) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น สับปะรดกระป๋อง กุ้งแปรรูป รถบรรทุก เป็นต้น
โดยความรุนแรงของผลกระทบพิจารณาจากความแตกต่างระหว่างอัตราภาษีปกติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (Most-favoured-nation; MFN) กับอัตราภาษี GSP สัดส่วนการใช้สิทธิ และมูลค่าการส่งออกไปยุโรป (รูปที่ 1) ซึ่งสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิมีทั้งสิ้น 50 รายการ มีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2011 เท่ากับ 4,420 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ไทยอยู่ในข่ายที่จะถูกตัดสิทธิ หากถูกตัดสิทธิดังกล่าวไทยจะไม่ได้รับสิทธิ GSP ในทุกรายการสินค้า โดยจะกระทบสินค้าอีก 723 รายการที่เหลือจากการถูกตัดสิทธิก่อนหน้า ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสสูญเสียรายได้จากส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 64.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสกระทบมากที่สุดจาก 723 รายการที่เหลือคือ กุ้ง จักรยาน รองเท้า รถจักรยานยนต์ ปลาหมึก เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่มห่ม มอเตอร์ไฟฟ้า บอลแบริ่ง น้ำมันปาล์มดิบ ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ในระยะยาวการถูกตัดสิทธิ GSP จะทำให้ไทยมีโอกาสถูกแย่งตลาดจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่มีโครงสร้างการส่งออกที่คล้ายไทยแต่ยังคงได้รับสิทธิทางภาษี โดยจำแนกเป็นสองกลุ่มคือ
1) กลุ่มที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เนื่องจากยังเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในระดับต่ำ (Low-income countries) และ รายได้เฉลี่ยต่อหัวระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower-middle income countries) เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ยูเครน และฟิลิปปินส์
2) กลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวขนาดปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) แต่มีการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เพื่อได้รับสิทธิทางภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น มาเลเซีย เม็กซิโก บราซิล แอฟริกาใต้ และ อาร์เจนตินา
โดยไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียรายได้จากการถูกแย่งตลาด เป็นมูลค่าสูงถึง 2,561.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทั้งสองกลุ่มประเทศ นอกจากนี้ยังมีโอกาสถูกแย่งตลาดจากประเทศจีน ซึ่งมีโครงสร้างการส่งออกคล้ายกับไทย ถึงแม้ว่าจีนจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเช่นเดียวกับไทยเพราะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) เช่นกัน แต่จีนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงกว่าไทยและยังครองส่วนแบ่งในตลาดสินค้าส่งออกไปยังยุโรปสูงที่สุด คือ 17% ในปี 2011 ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดยุโรปเพียง 1% เมื่อสินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นจากส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นโอกาสที่ผู้นำเข้าสินค้าจะเลือกนำเข้าจากจีนทดแทนได้เช่นกัน
ผู้ประกอบการและภาครัฐควรทำอย่างไร
ผู้ประกอบการควรมีการไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้เป็นประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP โดยเวียดนามได้รับสิทธิ GSP เป็นการทั่วไป ในขณะที่ลาวและกัมพูชาได้รับสิทธิสำหรับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed countries) ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้า ยกเว้นอาวุธ (Everything But Arms: EBA) สำหรับพม่าในปัจจุบันยังไม่ได้รับสิทธิ GSP จากยุโรปแต่คาดการณ์ว่าการเปิดประเทศที่มากขึ้นน่าจะทำให้พม่าได้รับสิทธิ GSP ในไม่ช้า ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าแล้วจะพบว่าประเทศในกลุ่มนี้มีการส่งออกสินค้าในรายการที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปยุโรปเป็นมูลค่าน้อยทำให้น่าจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ นอกจากสิทธิ GSP แล้วโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกลุ่มนี้ก็คล้ายกับประเทศไทยและยังมีค่าแรงที่ถูกกว่าไทยทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูง จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน
ในส่วนของภาครัฐควรช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิ GSP มากขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาแล้วยังมีสินค้าหลายรายการที่ผู้ประกอบการไม่ได้ใช้สิทธิ GSP ทั้งที่ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของภาษีอัตราปกติกับภาษี GSP ซึ่งการใช้สิทธิ GSP จะเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและสร้างฐานลูกค้าให้แก่สินค้าไทยในอนาคต อีกทั้งควรเร่งสานต่อการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป ให้เสร็จก่อนปี 2015 เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ FTA แทนสิทธิพิเศษ GSP ที่ถูกตัดไป
รูปที่ 1 เปรียบเทียบตัวอย่างสินค้าที่ถูกตัดสิทธิจาก Product Graduation ที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด (ผงมัสตาร์ด) และมากที่สุด (กุ้งแปรรูป)
หน่วย : ดอลลาร์สหรัฐฯ
|
ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การค้าโลก, กรมศุลกากร, International Trade Center และ European Commission