ผู้เขียน: โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์
Foreign Direct Investment: FDI
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2557
"นางสาว กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า ในปีนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ค่อนข้างสดใส ดูจาก FDI ปีที่แล้ว พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังสนใจที่จะลงทุนในไทย" ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (12 กุมภาพันธ์ 2557) |
FDI คืออะไร
ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI คือ ธุรกรรมการลงทุนที่ผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศมีต่อธุรกิจที่มีถิ่นฐานในไทย โดยการลงทุนที่ถูกนับเป็นการลงทุนโดยตรงมี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1) การลงทุนด้วยการถือหุ้นที่มีสิทธิ์ร่วมในการบริหารกิจการตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป 2) การกู้ยืม ตราสารหนี้ และสินเชื่อการค้าที่เป็นธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน และ 3) กำไรคงค้างที่นำกลับมาลงทุน
ปัจจัยที่ดึงดูด FDI คืออะไร
ในมุมมองของประเทศผู้ลงทุนนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกออกมาลงทุนในต่างประเทศแทนการลงทุนในประเทศตนเองคือ ค่าจ้าง เนื่องจากประเทศผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนา (Advanced economies) ซึ่งมีอัตราค่าจ้างที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องการออกมาลงทุนในประเทศอื่นที่มีค่าจ้างต่ำกว่าเพื่อลดต้นทุนการผลิต ดังนั้นประเทศผู้รับการลงทุนประเทศใดมีค่าจ้างที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบก็จะดึงดูด FDI ได้ค่อนข้างมาก แต่ค่าจ้างไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยดึงดูด FDI ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยดึงดูด FDI เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ เข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยซึ่งได้รับ FDI อย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของตลาดภายในประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนสามารถส่งออกได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เสถียรภาพทางการเมือง นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ จำนวนแรงงาน ภูมิศาสตร์ของประเทศ เป็นต้น
FDI สำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยขนาดไหน
คำตอบคือ ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก เงินออมภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของธุรกิจที่จะนำไปใช้ในการขยายกิจการ ดังนั้นเงินลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเงินออมในประเทศกับความต้องการเงินทุน นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศยังมาพร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technological transfer) และการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมของประเทศที่ได้รับ FDI มีการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันระยะยาว รวมถึงช่วยสร้างการจ้างงาน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ได้รับ FDI จากบริษัทต่างชาติทั้ง Western Digital, Seagate และ Toshiba กระทั่งไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกโดยเฉพาะทางด้านฮาร์ดดิสก์ ทั้งนี้ FDI คิดเป็นสัดส่วนราว 13% ของการลงทุนภาคเอกชนทั้งหมด
โครงสร้างของ FDI ในไทยเป็นเช่นไร
ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดในปัจจุบันคือ ญี่ปุ่น โดยยอดคงค้างของ FDI จากญี่ปุ่นในปี 2012 มีมูลค่าราว 57.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 31% ของยอดคงค้าง FDI ทั้งหมดของไทย (รูปที่ 1) ทั้งนี้ไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เพื่อลดผลกระทบของการแข็งค่าของเงินเยนจากข้อตกลงของ Plaza Accord อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นมากคือ สิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2008 เป็น 18% ในปี 2012 ในส่วนรายธุรกิจนั้น ธุรกิจที่ได้รับ FDI มากที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและภาคประกันภัย โดยธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนยอดคงค้างการลงทุนประมาณ 24% ต่อยอดคงค้างการลงทุนโดยตรงทั้งหมด
แนวโน้มของ FDI ในไทย
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยยังเติบโตได้ในระดับดี โดย FDI ของไทยในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2013 มีมูลค่าราว 3.9 แสนล้านบาท ขยายตัว 13%YOY อย่างไรก็ดีหากพิจารณาถึงยอดการขอรับการส่งเสริมสุทธิ (Application) ยอดการอนุมัติให้การส่งเสริม (Approval) และยอดการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน (Certificate Issuance) ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีการลงทุนจริง เป็นรายไตรมาสพบว่า เกิดการหดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาส 4 ราว 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปลายปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และส่งผลให้มีการชะลอแผนการลงทุน
สำหรับในระยะต่อไปนั้น ต้องจับตามองว่า ความไม่สงบทางการเมืองจะกระทบต่อ FDI มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะในประเด็นของการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ชุดใหม่ที่ต้องหยุดชะงักไปนับตั้งแต่มีการยุบสภา ส่งผลให้โครงการลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไปไม่สามารถอนุมัติได้ราว 200 โครงการ มูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ถูกกระทบค่อนข้างมากคือ โครงการ Eco-car Phase 2 ซึ่งผู้ผลิตตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์อีก 100,000 คันต่อราย ภายใน 4 ปี และคาดว่าจะต้องลงทุนอย่างน้อย 6,500 ล้านบาทต่อราย ซึ่งการที่ไม่มีคณะกรรมการอนุมัตินี้ จะทำให้โครงการต้องเลื่อนออกไป และผู้ประกอบการบางรายมีโอกาสย้ายไปลงทุนในประเทศอื่น
นอกจากประเด็นการเมืองแล้วต้องติดตามดูว่า ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ค่อนข้างมากในช่วงปี 2012 จะเริ่มมีการลงทุนจริงในช่วงเวลาใด และมากน้อยขนาดไหน