รับมือปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลของไทย
การปรับกลยุทธ์และกำหนดนโยบายด้านแรงงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะช่วยเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน
แรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลเป็นที่ต้องการ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงด้านดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทักษะทางด้าน Data science ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและควบคุม AI รวมถึงการวิเคราะห์และจัดการ Big data
ปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัล
ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีแนวโน้มเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานด้านดิจิทัลในกลุ่ม STEM (Science, Technology, Engineer และ Mathematics) เติบโตเฉลี่ยราว 3% ต่อปี ซึ่งถือว่าการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงด้านดิจิทัลของไทยยังค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับความต้องการที่เร่งตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับรายงาน IMD World Digital Competitiveness Raking 2021 พบว่า ความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยอยู่อันดับ 38 จาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยปัจจัยด้านความรู้ (Knowledge) และความพร้อมในอนาคต (Future readiness) เป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนาซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 ของไทยได้ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลและส่งเสริมการพัฒนาแรงงานให้พร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยีที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัล
การปรับกลยุทธ์และกำหนดนโยบายด้านแรงงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะช่วยเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ในระยะสั้น การดึงพลเมืองทักษะสูงที่พำนักในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศเป็นอีกกลยุทธ์ที่สามารถป้อนแรงงานที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดได้ทันที ปัจจุบันภาครัฐเน้นกำหนดนโยบายเพื่อดึงแรงงานต่างชาติทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจเพิ่มกลยุทธ์ในการดึงคนไทยที่มีทักษะและพำนักในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในไทยมากขึ้น ดังเช่นนโยบายของมาเลเซียที่เน้นดึงชาวมาเลเซียที่ทำงานด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราคงที่เป็นเวลา 5 ปี จากเดิมที่ชำระภาษีเงินได้แบบอัตราก้าวหน้า นอกจากนี้ การหาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาแรงงานไทยที่มีทักษะสูงให้อยู่ทำงานในประเทศยังเป็นอีกความท้าทายสำคัญ
ในระยะยาว นอกจากการพัฒนาทักษะแรงงานและการเร่งสร้างแรงงานใหม่ให้มากขึ้นแล้ว แรงงานยุคใหม่จำเป็นต้องมีความรู้ที่หลากหลายพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะในกลุ่มแรงงานเดิม (Reskill, Upskill) รวมถึงการสร้างทักษะดิจิทัลให้กลุ่มแรงงานใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษาผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เช่น การเข้าร่วมจัดทำหลักสูตรการเรียนและการฝึกงาน อย่างไรก็ดี ความร่วมมือกับภาคเอกชนในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในวงจำกัดและกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี เช่น ในนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้การผลิตแรงงานใหม่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของภาคเอกชนในลักษณะเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณด้านเทคโนโลยีให้กับสถานศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลายด้านมากขึ้น ดังนั้น แรงงานยุคใหม่จะต้องมีความรู้ที่หลากหลายและสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการประเมินความต้องการของตลาดแรงงานด้านดิจิทัลในระยะยาวผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดจะสามารถเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานยุคใหม่และช่วยยกระดับทักษะแรงงานให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
________________
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 15 กันยายน 2022