สัญญาณแล้งนี้...เมื่อโลกไม่มีวันเหมือนเดิม
ผู้นำประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันเร่งหาทางลดโลกร้อนอย่างจริงจัง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วที่อาจจะต้องเจอในอนาคต
ไม่นานนี้ผู้อ่านคงพอทราบข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลกติด ๆ กัน ต้นเหตุมาจากปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงสร้างความเสียหายในหลายประเทศชัดขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศไทยเองก็เจอสถานการณ์เมฆดำทะมึนรูปร่างแปลกหอบฝนมาแต่เช้า ทำให้น้ำท่วมหนักไปทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง วันนี้เลยอยากชวนผู้อ่านลองมาดูว่า ช่วงนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลก และสัญญาณนี้กำลังบอกเราว่า โลกจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอย่างไร
จีนกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ประเทศจีนเจอคลื่นความร้อนรุนแรงและฝนไม่ยอมตกยาวนานมากสุดนับตั้งแต่ปี 1961 อุณหภูมิเฉลี่ยช่วงฤดูร้อนปีนี้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียสนานกว่า 70 วัน ภัยแล้งรอบนี้กระทบประชากรจีนกว่า 900 ล้านคนใน 17 มณฑล ครอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งของประเทศ โดยเฉพาะจีนตอนใต้ ส่งผลต่อการผลิตเกษตร การผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ระบบชลประทานและน้ำดื่ม โรงงานผลิตสินค้าต่าง ๆ และการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1865 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตไฟฟ้าในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลักราว 30% ของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งประเทศ เขื่อนหลักสามารถผลิตไฟฟ้าเหลือแค่ครึ่งเดียวจากระดับปกติ 900 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน ทำให้โรงงานผลิตในหลายมณฑลใกล้เคียงขาดแคลนไฟฟ้าจนต้องปิดตัวชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่จีนเป็นโรงงานป้อนวัตถุดิบสู่ตลาดโลก เช่น ชิปประมวลผล แผงโซล่าเซลล์ รถยนต์
ยุโรปกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ยุโรปก็เจอปัญหาคลื่นความร้อนและอากาศแล้งรุนแรงสุดในรอบ 500 ปี โดยเฉพาะสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน ข้อมูลจาก The European Drought Observatory ชี้ว่า 64% ของพื้นที่ในสหภาพยุโรปส่งสัญญาณเตือนความแห้งแล้งระดับ warning และ extreme ทำให้เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น 5 เท่าเทียบกับช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผลผลิตเกษตรลดลง และระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักลดลงมาก เช่น แม่น้ำไรน์ ซึ่งมีค่าดัชนี Low-Flow Index ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำเข้าขั้น very rare และ extremely rare เกือบตลอดสาย นอกจากนี้ การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าในประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำการอน (Garonne) ในกระบวนการผลิต แต่อุณหภูมิน้ำที่สูงจนไม่สามารถนำมาใช้หล่อความเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ ทำให้ต้องปิดโรงงานชั่วคราว กระทบกำลังการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าภายในประเทศ
สหรัฐฯ กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
สหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐในฝั่งตะวันตกก็เจอปัญหาอากาศแล้งผิดปกติรุนแรงสุดในรอบ 1,200 ปี กินพื้นที่ 43% ของประเทศ คลื่นความร้อนสูงจัดกว่า 45 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดไฟป่าในบางพื้นที่จนกระทบระบบสายส่งและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อากาศร้อนมากทำให้คนเปิดแอร์ใช้ไฟปริมาณสูงมากจนทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรบางช่วง แม่น้ำโคโลราโดและแหล่งกักเก็บใกล้เคียงมีระดับน้ำน้อยลงไปมากจนกระทบการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำและระบบชลประทาน ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียต้องประกาศข้อบังคับฉุกเฉินจำกัดการใช้น้ำของประชาชนอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ 2 มิ.ย. ขณะที่อีกฟากในรัฐจอร์เจียกลับเผชิญภาวะน้ำท่วมรุนแรงฉับพลันเป็นผลจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง เช่นเดียวกับปากีสถานที่เจอสถานการณ์ตรงกันข้าม ฝนตกหนักไม่หยุดและเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อธารน้ำแข็งในประเทศละลายลงมาเสริมแรงลมมรสุม น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ กระทบผู้ประสบภัยมากกว่า 33 ล้านคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และพื้นที่เพาะปลูก โดยรัฐบาลปากีสถานประเมินความเสียหายครั้งนี้เบื้องต้นประมาณ 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อนาคตโลกต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงขึ้น
องค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) ประเมินไว้ว่า ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะมี 129 ประเทศที่ต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงขึ้น ยิ่งประเทศที่มีประชากรมากจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำและอาหารรุนแรงกว่า โดยในปี 2030 UN คาดว่าประชากรโลก 700 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง และจะเพิ่มเป็น 3 ใน 4 ของจำนวนประชากรโลกในปี 2050 นอกจากนี้ UN ได้เสนอทางออกให้ประเทศต่าง ๆ วางนโยบายคืนสภาพฟื้นฟูดิน (land restoration) วางระบบการบริหารจัดการน้ำกักเก็บน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับกระบวนการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติให้เป็น proactive และ risk-based approach แทนที่แบบ reactive และ crisis-based approach ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า วิกฤตภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศที่เกิดขึ้นไล่ๆ กัน นับเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้จากปัญหา Climate Change ประชากรทุกคนทุกชาติต่างจะได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะนับวัน “ปัญหาโลกรวน” มีแต่จะรุนแรงขึ้น เกิดนานขึ้น และกระทบเป็นวงกว้างขึ้น ในระยะต่อไปจึงควรจับตาผลกระทบ 3 ด้านที่สำคัญ คือ (1) ความเสี่ยงนี้จะซ้ำเติมการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กระทบภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า และการท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ (2) ความเสี่ยงนี้จะเร่งให้เงินเฟ้อโลกสูงขึ้นจากภาวะอาหารขาดแคลน (food security) หากประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถผลิตผลผลิตบางชนิดได้เหมือนเดิม ต้องนำเข้ามากขึ้นให้พอความต้องการใช้ในประเทศ จะกดดันให้ราคาตลาดโลกสูง ซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกตึงตัวที่มีอยู่จากวิกฤต COVID-19 และความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน และ (3) วิกฤตภัยแล้งรุนแรงจะทำให้การวางนโยบายพลังงานสะอาดจากพลังงานน้ำมีความซับซ้อนมากขึ้นในการกำหนด electricity mix policy เปลี่ยนผ่านนโยบายพลังงานของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ความไม่ปกติใหม่นี้กำลังส่งสัญญาณให้รู้ว่า ถึงเวลาที่ผู้นำประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันเร่งหาทางลดโลกร้อนอย่างจริงจัง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วที่อาจจะต้องเจอในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคการเงินที่จะร่วมมือในฐานะตัวกลางสนับสนุนแหล่งเงินทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เอื้อให้ธุรกิจและประชาชนเร่งปรับตัวรับมือปัญหาโลกรวนรุนแรงในอนาคต ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง และตั้งรับโจทย์ท้าทายของโลกได้อย่างเท่าทันมากขึ้นค่ะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
รายการอ้างอิง
1. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, 29 สิงหาคม 2022 https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat/posts/6172741582740993
2. Dennis Wong and Han Huang, “China’s record heatwave, worst drought in decades”, South China Morning Post, 30 August 2022
https://multimedia.scmp.com/infographics/news/china/article/3190803/china-drought/index.html
3. European Commission, Drought in Europe - August 2022, Global Drought Observatory (GDO) of the Copernicus Emergency Management Service, GDO Analytic Report, 22 August 2022
4. United Nations, “World ‘at a crossroads’ as droughts increase nearly a third in a generation”, 12 May 2022
5. U.S. Drought Monitor https://droughtmonitor.unl.edu/
________________
เผยแพร่ในบทความไทยรัฐออนไลน์ คอลัมน์บางขุนพรหมชวนคิด วันที่ 12 กันยายน 2022