SHARE
SCB EIC ARTICLE
14 พฤษภาคม 2014

Twin deficits

การขาดดุลแฝด

ผู้เขียน:  ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ และอณิยา ฉิมน้อย

 158673029.jpg

การขาดดุลแฝด (Twin deficits)
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2557

"Over the next 12 months, rising political risk and less favorable moves in rate spreads may see more intense focus on the twin deficits," Robson wrote in an e-mailed note.

ที่มา : Bloomberg ( April 7, 2014)

การขาดดุลแฝดคืออะไร ?

การขาดดุลแฝด คือ ภาวะเศรษฐกิจที่มีการขาดดุลการคลังของภาครัฐและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในขณะเดียวกัน  โดยสาเหตุการขาดดุลการคลังเกิดจากรัฐบาลมีการใช้จ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องชดเชยการขาดดุลโดยการกู้ยืม  จะทำให้อุปสงค์การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น  และอุปสงค์การนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย แต่อาจส่งผลให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อได้  ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เกิดจากการขาดดุลสุทธิของดุลการค้า  ดุลบัญชีบริการ  ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ  และดุลเงินโอนระหว่างประเทศ ซึ่งสาเหตุหลักมักมาจาก การขาดดุลการค้า นั่นคือ มีรายจ่ายจากการนำเข้ามากกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้า  การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการรองรับความเสี่ยงและความเชื่อมั่นของผู้ที่จะเข้ามาลงทุน   แม้ว่าการขาดดุลแฝดจะทำให้ค่าเงินอ่อนลง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ในขณะเดียวกันเงินที่อ่อนค่าจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ผ่านราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ      

ประเทศตลาดเกิดใหม่ ( Emerging Markets) มักเผชิญภาวะการขาดดุลแฝดจริงหรือ ?

มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจาก ประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่งและพลังงาน  ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทในโครงการลงทุนขนาดใหญ่  ทำให้มีการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น   ในขณะที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องนำเข้าสินค้าทุนเป็นมูลค่าสูง ทำให้ประสบกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เร่งรัดการพัฒนาประเทศ  นอกจากนี้ปัญหาการขาดดุลทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การขาดดุลการคลังของภาครัฐจะกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้มีการใช้จ่ายและนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงมีแนวโน้มขาดดุลมากยิ่งขึ้นด้วย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่มักจะตกอยู่ในภาวะการขาดดุลแฝด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติของประเทศที่มีแผนการนำเงินไปลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศหรือประเทศกำลังพัฒนา  แต่สำหรับบางประเทศอาจไม่พบปัญหาก็ได้ ดังเช่น ตัวอย่างเปรียบเทียบของสองประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ประเทศมาเลเซียและลาว  ซึ่งทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันของพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและภาคต่างประเทศ  

เศรษฐกิจมาเลเซียมีเสถียรภาพทางการคลังและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าลาว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   จากการที่รัฐบาลมาเลเซียปรับเพิ่มเสถียรภาพทางการคลัง โดยลดการขาดดุลการคลังผ่านมาตรการลดการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดการอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า และการลดการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังเลื่อนโครงการลงทุนที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงแต่มีผลต่อเศรษฐกิจต่ำออกไปเพื่อชะลอการนำเข้าสินค้าทุน จึงทำให้มาเลเซียขาดดุลเฉพาะงบประมาณการคลังเท่านั้นและไม่เกิดปัญหาการขาดดุลแฝด

สำหรับลาว รัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาประเทศและวางระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร  อีกทั้งมีนโยบายลดภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าและการลงทุน จึงทำให้ดุลงบประมาณการคลังของลาวขาดดุลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้โครงการลงทุนต่างๆ จำเป็นต้องมีการนำเข้าสินค้าทุนเป็นมูลค่าสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดของลาวจึงมีแนวโน้มขาดดุลต่อไป  และอาจเกิดปัญหาการขาดดุลแฝดต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า ( จากการคาดการณ์ของ IMF เมื่อ เดือน เมษายน 2557)

ประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสเกิดปัญหาการขาดดุลแฝดหรือไม่ ?

มี ตัวอย่างเช่นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลังจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องยาวนานและมีการก่อหนี้สาธารณะในระดับสูง จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีระบบประกันสังคมและรัฐสวัสดิการที่พัฒนาไปจนอิ่มตัว ทำให้รัฐรับภาระแทนประชาชนค่อนข้างมากในด้านการประกันสุขภาพ รวมถึงการให้เบี้ยเลี้ยงคนชราและผู้ว่างงาน  อีกทั้งพบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากการส่งออกที่อยู่ในช่วงหดตัวหรือเติบโตได้ในระดับต่ำ  จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีโอกาสเจอกับปัญหาการขาดดุลแฝดเช่นเดียวกันกับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ 

สถานการณ์การขาดดุลแฝดของไทยในปี  2556 เป็นอย่างไร ? และสัญญาณในปีนี้ ?

ฐานะการคลังของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา  คือ รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 6.1  จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.8  รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 2.4 ของจีดีพี (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของปี 2556 ขาดดุลจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงตามอุปสงค์จากต่างประเทศ  นักลงทุนนำเข้าทองคำเพื่อการลงทุนและบริษัทข้ามชาติในไทยส่งกำไรและเงินปันผลส่งกลับประเทศเพิ่มขึ้น  ดังนั้นในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงพบกับปัญหาการขาดดุลแฝด

สัญญาณในปีนี้ จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะชะลอออกไป ทั้งโครงการการบริหารจัดการน้ำและโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ  อีกทั้งความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายของรัฐยังมีแนวโน้มที่จะขาดดุลต่อไปอีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า  สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลจากการส่งออกที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการนำเข้าที่ลดลงเนื่องจากการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มหดตัวลง  การลงทุนและการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เติบโตในระดับต่ำ การนำเข้าทองคำที่ปรับลดลงสู่ระดับปกติ  และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลลดลงเนื่องจากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหมดไป 

ดังนั้นจึงอาจคาดการณ์ได้ว่าต่อไปเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากปัญหาการขาดดุลแฝด  จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่งบประมาณการคลังจะยังคงขาดดุลต่อไป โดยในอนาคตประเทศไทยควรเพิ่มวินัยทางการคลังควบคู่กับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวผ่านนโยบายด้านอุปทาน นั่นคือ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนในประเทศพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศและยกระดับเทคโนโลยีเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน ตลอดจนลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ต้องอาศัยการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐมาสนับสนุน

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ