SHARE
SCB EIC BRIEF
18 กรกฏาคม 2022

Economic Lesson: ถอดบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจไทยจากต้มยำกุ้งสู่ COVID-19

เปรียบเทียบความเสียหายทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

“Thailand’s economy is expected to recover gradually over the next two years, but the outlook remains highly uncertain.” World Bank (มกราคม 2022)

 

COVID-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง
 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง นับว่าเป็นวิกฤตครั้งสำคัญของโลก ถึงแม้ในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรวมถึงความรุนแรงของโรคจะเริ่มลดลง หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคจนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศยังเป็นไปได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปจากรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่การแพร่ระบาดทิ้งเอาไว้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่วิกฤตครั้งนี้อาจดูแตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมาที่เคยประสบในอดีต เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก กระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ

แล้วในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 แล้วหรือยัง

ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่รอยบาดแผลจากวิกฤตยังคงอยู่ กล่าวคือ อัตราการว่างงานยังคงไม่กลับไปเท่าช่วงก่อน COVID-19 รายได้เฉลี่ยของประชากรยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเงินเฟ้อจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานประกอบกับภาวะสงครามในยูเครน ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ความไม่สมดุลกันระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทานในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนจึงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

การส่งออกบริการ และการลงทุนภาคเอกชนของเศรษฐกิจไทย ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ภาคการส่งออกบริการ (Service Exports) มีอัตราการหดตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภาคส่วน และยังคงไม่ฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุด โดยหากย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด ไทยมีการส่งออกบริการอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 การส่งออกบริการของไทยหดตัวลงมาอยู่ที่จุดต่ำสุดที่เพียง 26.84% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดในไตรมาส 1 ปี 2021 และเริ่มปรับตัวขึ้นหลังจากนั้น ซึ่ง ณ ไตรมาส 1 ปี 2022 อยู่ที่ 31.94% หรือประมาณ 8.5 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment) ที่ยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งช่วงก่อนการแพร่ระบาด ไทยมีการลงทุนของภาคเอกชนอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท โดยหลังการแพร่ระบาด มีจุดต่ำสุดอยู่ที่ไตรมาส 4 ปี 2020 คือ 91.7% ของการลงทุนภาคเอกชนก่อนการแพร่ระบาด และขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนปัจจุบัน ในไตรมาส 1 ปี 2022 อยู่ที่ 95.48% หรือประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจเนื่องมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในส่วนของการบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) การส่งออกสินค้า (Good Exports) และการนำเข้าของสินค้าและบริการ (Good and Service Imports) มีการฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดแล้ว โดยปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท, 9.1 ล้านล้านบาท และ 10 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

pic_economic001.png

 

วิกฤติ COVID-19 กับ วิกฤตต้มยำกุ้ง

โดยหากจะเปรียบเทียบบริบทการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ กับวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ Asian Financial Crisis ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1997-1998 ที่เป็นวิกฤตหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง มีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ของไทย และขยายผลกระทบจนนำไปสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศ จากการใช้จ่ายเกินตัว การลงทุนด้วยเงินกู้ ตลอดจนการหวังเก็งกำไรจากสินทรัพย์ต่าง ๆ จนทำให้เกิดช่องโหว่ทางการเงินมากมาย และกลายเป็นฟองสบู่ในที่สุด ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว กระทั่งเงินบาทอ่อนค่าจากระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ประมาณ 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ปริมาณหนี้สินที่กู้ยืมในรูปสกุลเงินต่างประเทศทวีคูณสูงขึ้นในรูปเงินบาท ซึ่งวิกฤตต้มยำกุ้งใช้เวลาเกือบ 5 ปี กว่าที่มูลค่าทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่าก่อนการเกิดวิกฤต

แม้โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากวิกฤตแล้ว แต่ยังคงมีบางภาคส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาจนปัจจุบัน นั่นคือ ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน ที่แต่ก่อนมีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท และในไตรมาสที่ 3 ปี 2001 หดตัวเหลือเพียงประมาณ 38.9% ของการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงก่อนเกิดวิกฤต และต่อเนื่องมาจนปัจจุบันที่อยู่ที่ 93.06% เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่ใช้เวลาเพียงประมาณ 2 ปีกว่า ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ถึง 95.48% ในทางกลับกัน การที่เงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่โตขึ้นเอื้อต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก เพราะหมายความว่าเมื่อส่งออกในปริมาณเท่าเดิม ผลตอบแทนที่ได้กลับมาจะมีมูลค่าสูงขึ้นซึ่งในช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง การส่งออกของไทย (รวมสินค้าและบริการ) มีมูลค่าอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท และขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่คิดเป็นประมาณ 356.71% ของการส่งออกในช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

แต่สำหรับวิกฤต COVID-19 จะแตกต่างออกไป เพราะจำเป็นจะต้องพิจารณาภาคการส่งออกสินค้าแยกกับภาคการส่งออกบริการ เนื่องจากเงื่อนไขและผลกระทบที่ได้รับแตกต่างกัน เพราะในขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ส่วนของการหดตัวของภาคการส่งออกบริการยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกสินค้า เนื่องจากสาเหตุของการหดตัว คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้ผ่อนคลายมาตรการลงแล้วในหลายประเทศ การฟื้นตัวของการส่งออกบริการก็เริ่มกลับมา แต่ก็ยังคงห่างไกลกับมูลค่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 อยู่มาก นอกจากนี้ สำหรับการฟื้นตัวของการบริโภคของภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้าและบริการจากวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจุดต่ำสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 1999 อยู่ที่ 87.26% และ 73.18% ของมูลค่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ตามลำดับ และใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี กว่าที่มูลค่าจะกลับไปเทียบเท่าก่อนเกิดวิกฤตดังกล่าว ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่การบริโภคของภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้าและบริการมีการฟื้นตัวเร็วกว่าภาคอื่น ๆ

pic_economic002.png

 
หากไม่มีวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น แนวโน้มประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

วิกฤตในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ที่เมื่อภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤต เศรษฐกิจก็เกิดปัญหาอย่างหนัก อีกทั้ง ความไม่พร้อมทางการเงินทั้งของภาคธุรกิจและครัวเรือนของไทยที่มีอยู่แต่เดิมและเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเกิดวิกฤต ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อีกบทเรียนสำคัญที่ไทยยังคงต้องพัฒนา คือ ความได้เปรียบของการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดี เพราะจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ภายใต้วิกฤต

ในช่วงเวลา 3 ปี ก่อนที่จะเกิดวิกฤต COVID-19 ประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 0.87%QOQ แต่เมื่อเกิดวิกฤตดังกล่าว เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเหลือเพียง 0.048%QOQ เท่านั้น โดยจากการคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต (ไตรมาส 4 ปี 2019) ได้ ณ ไตรมาส 3 ปี 2023 คือ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยังคงห่างกับมูลค่าทางเศรษฐกิจในกรณีที่ไม่มีวิกฤตเกิดขึ้นพอสมควร กล่าวคือ หากเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่เท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต มูลค่าทางเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแล้วจากวิกฤต COVID-19 ถึง 13.84%

pic_economic003.png
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงต้องเตรียมรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ไทยจะได้รับผลกระทบด้วย ไม่ว่าจะเป็นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ของจีน ตลอดจนความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นของคนในประเทศ


________________

 

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 18 กรกฎาคม 2022

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ