SHARE

Sustainability-Linked Bond: ตราสารหนี้น้องใหม่ของไทย ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลกเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ...

การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่อย่าง Sustainability-Linked Bond เพื่อตอบสนองทั้งความต้องการของบริษัทที่แสวงหาเงินทุนไปใช้ในการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสังคม (responsible investor) ซึ่งตลาดตราสารหนี้ดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ Green Economy เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

Sustainability-Linked Bond (SLB) คืออะไร?

SLB คือ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนรูปแบบใหม่ที่อยู่ภายใต้กลุ่มตราสารหนี้ Environmental, Social and Governance (ESG) Bond โดยมีเงื่อนไขการให้ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยที่สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดและเป้าหมายของบริษัทผู้ออก SLB ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือเป้าหมายด้านสังคม เช่น การลดจำนวนอุบัติเหตุในการทำงาน หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วให้แก่นักลงทุน หากทำสำเร็จตามเป้าหมายบริษัทอาจจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงตามแต่ตกลงกัน ทั้งนี้การระดมเงินทุนผ่าน SLB สามารถนำไปใช้กับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโครงการเดียวหรือหลายโครงการก็ได้

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) อีกทั้งกระแสของนักลงทุนที่ตระหนักถึงเรื่องของ ESG จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้นเท่านั้น ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากสถิติจำนวนบริษัทที่มีการตั้งเป้าหมายไปสู่ Net zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2021 บริษัททั่วโลกที่มีความมุ่งมั่นเข้าร่วมการตั้งเป้าหมาย Net zero ภายใต้ Science Based Targets initiative (SBTi) มีจำนวน 1,475 แห่ง ขยายตัวสูงขึ้นกว่า 2 เท่าเทียบกับปีก่อนหน้า หรือ 164%YOY ดังนั้น บริษัทที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมในการทำธุรกิจแต่ทุนไม่พอสามารถระดมทุนผ่าน SLB ได้ เช่นเดียวกับเทรนด์ของนักลงทุนที่ให้ความสนใจบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนที่ดีและสามารถบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน หากบริษัทมีการจัดทำรายงานเปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจและมีเป้าหมายภายใต้หลักการ ESG จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัท และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้นด้วย

รูปที่ 1 : บริษัทที่มีความมุ่งมั่นเข้าร่วมการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้ Science Based Targets initiative (SBTi) มีจำนวนสูงขึ้น สำหรับไทยมีจำนวน 6 บริษัท ณ สิ้นปี 2021

Picture1.png

 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BloombergNEF

การระดมทุนผ่านการออก Sustainability-Linked Bond มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง SLB ได้รับความสนใจจากบริษัทที่แสวงหาเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมาก เนื่องจาก SLB เป็น performance-based bond โดยผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความสำเร็จของตัวชี้วัด และสามารถระดมทุนไปใช้ในโครงการใดก็ได้ จึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าตราสารหนี้อื่นอย่าง Green bond หรือ Social bond ที่เป็น project-based bond คือระดมทุนมาใช้ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ระบุไว้เฉพาะเจาะจง อีกทั้ง บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรม (ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง) ก็สามารถออก SLB ได้เพียงมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ทั้งนี้ในปี 2021 การออก SLB ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 1.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่า 9 เท่าเทียบกับมูลค่าในปี 2020 ซึ่งธุรกิจสาธารณูปโภค (เช่น ไฟฟ้า ประปา) มีสัดส่วนมูลค่าการออก SLB สูงที่สุดที่ 21% และจากข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคม 2022 มูลค่าการออก SLB เติบโตสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าถึง 121%YOY ซึ่ง Environmental Finance คาดว่าในปี 2022 มูลค่าดังกล่าวจะขยายตัวถึง 2 เท่าเทียบกับปี 2021 มาอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

รูปที่ 2 : มูลค่าการออก Sustainability-Linked Bond ทั่วโลก สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2021 ธุรกิจสาธารณูปโภคมีสัดส่วนมูลค่าการออก Sustainability-Linked Bond มากที่สุด

Picture2.png

 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BloombergNEF

บริษัทที่ต้องการออก SLB มีแนวทางปฏิบัติหลายขั้นตอน สิ่งสำคัญคือการกำหนด KPIs ด้านความยั่งยืน และเป้าหมายของตัวชี้วัด สมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ (International Capital Market Association: ICMA) กำหนดแนวทางของการออก SLB ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) กำหนดตัวชี้วัด ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตัวชี้วัดมีหลายตัวได้แต่ต้องสามารถนำมาประเมินผลในเชิงปริมาณและตรวจสอบได้โดย external reviewer เช่น ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจสอบภายใน 2) ระบุเป้าหมายของตัวชี้วัด (Sustainability Performance Targets: SPTs) เช่น ในอีก 5 ปีข้างหน้าบริษัทสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20% เมื่อเทียบกับปริมาณที่ปล่อยในปัจจุบัน ทั้งนี้เป้าหมายอาจอ้างอิงกับเป้าหมายระดับประเทศหรือค่าเฉลี่ยของบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรม แต่ควรกำหนดเป้าหมายไว้สูงกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย 3) กำหนดคุณลักษณะของตราสาร อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการหากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัด ผู้ออก SLB ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เป็นเวลานานเพียงใด 4) จัดทำรายงาน และเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพื่อแจ้งผลความคืบหน้าของการดำเนินงานตามตัวชี้วัดว่าเป็นไปตามเป้าหมายเพียงใด 5) จัดให้มีการรับรองผลสำเร็จ หรือการให้ความเห็นในเรื่อง KPIs และ SPTs โดย external reviewer อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

SLB มีความพิเศษคือ การจ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบปรับขึ้นหรือปรับลงได้ตามผลการประเมินของตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน SLB ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกของโลกในปี 2019 โดยบริษัท Enel ผู้ผลิตพลังงานจากอิตาลี มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.65%/ปี ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดดีเกินคาดโดยมียอดจองมากกว่ามูลค่า SLB ที่ Enel ออกเกือบ 3 เท่า โดย Enel ตั้งเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2021 จากที่มีอยู่ 46% ในปี 2019 หากทำไม่ได้ตามเป้าบริษัทจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้นักลงทุนอีก 0.25% โดยเงินทุนที่ระดมได้ Enel จะนำไปใช้ในโครงการใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับตลาด SLB ของไทยถือเป็นน้องใหม่ ซึ่ง SLB รุ่นแรกออกขายแก่นักลงทุนสถาบันในเดือนกรกฎาคม 2021 โดยบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก มูลค่า 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.47%/ปี โดยมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ได้แก่ 1) ได้ขึ้นทะเบียนใน DJSI Emerging Markets และได้รับการจัดอันดับเป็น 10 บริษัทแรกของ DJSI Food Products Industry Index 2) ลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ได้ 4%ต่อปี และ 3) เพิ่มการตรวจสอบด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และ/หรือ มีผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบบนเรือประมงปลาทูน่าให้ได้ 5%ต่อปี นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ SLB ของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบ Step up/ Step down โดยอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลการประเมินของ SPTs ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทผู้ออก SLB ในต่างประเทศจะมีการเพิ่มดอกเบี้ยหากทำไม่สำเร็จ แต่ยังไม่มีรายใดลดดอกเบี้ยลงหากสามารถทำตามเป้าหมายได้ ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยถึงเดือนพฤษภาคม 2022 ภายในเวลา 10 เดือนตั้งแต่เริ่มมีการออก SLB ครั้งแรก บริษัทของไทยได้ระดมทุนผ่าน SLB ไปแล้วมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท

แม้ SLB ยังมีความกังวล เช่น ประเด็นเรื่อง Greenwashing และ Moral Hazard แต่ SLB จะเป็นหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในยุคการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ข้อดีของ SLB ในแง่ของบริษัทผู้ออก SLB นอกจากจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลงได้หากประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้ ในแง่นักลงทุน มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายมากขึ้นให้เลือกลงทุน และได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีความกังวลในเรื่อง Greenwashing ที่บริษัทอาจไม่ได้นำเงินไปลงทุนให้เกิดความอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงมีประเด็น Moral Hazard ที่กลับกลายเป็นว่านักลงทุนไม่อยากให้บริษัททำได้ตามเป้าของ KPIs เพราะตัวเองจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ถ่องแท้ นอกจากนี้ ในส่วนของ Underwriters ต้องมั่นใจว่าบริษัทกำหนดเป้าหมายที่ ambitious มากพอ และมีแรงจูงใจทางการเงินเพียงพอที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

_______________

 

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 15 มิถุนายน 2022

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ