Blue Carbon ศักยภาพป่าชายเลนของไทยในการกักเก็บคาร์บอน
Blue Carbon คือคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยระบบนิเวศในพื้นที่ชายฝั่ง รวมทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม...
Blue Carbon คือ คาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยระบบนิเวศในพื้นที่ชายฝั่ง รวมทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนสูงเมื่อเทียบกับป่าบนบกและระบบนิเวศในมหาสมุทรอื่น ๆ แม้ว่าพื้นที่เหล่านี้จะครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 2% ของพื้นที่ในมหาสมุทรทั้งหมด แต่พื้นที่ชายฝั่งมีสัดส่วนการกักเก็บคาร์บอนราว 50% ของปริมาณคาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทร เนื่องจากมีความสามารถสูงในการดึงคาร์บอนจากอากาศและกักเก็บไว้ในพื้นดิน (carbon sink) ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตจึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ในประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตั้งเป้าหมายพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตไว้สำหรับปี 2022 รวม 31,488 ไร่ และเป็นพื้นที่ในเขต EEC ราว 2,400 ไร่
ประโยชน์ของการปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลนมีมากกว่าการกักเก็บคาร์บอน ระบบนิเวศของป่าชายเลนมีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถเป็นที่กรองมลพิษ เช่น น้ำเสียก่อนไหลลงสู่ทะเล ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการกัดเซาะพังทลาย และเป็นแหล่งประมงชายฝั่งที่สำคัญอีกด้วย
ประโยชน์ที่นอกเหนือจากการกักเก็บคาร์บอนเหล่านี้ทำให้ blue carbon จากโครงการป่าชายเลนมีราคาซื้อขายที่สูงเมื่อเทียบกับเครดิตอื่น ๆ จากข้อมูลของ S&P Platts blue carbon จากป่าชายเลนมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 13 - 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) เมื่อเทียบกับราคาคาร์บอนเครดิตจาก nature based อื่น เช่น การปลูกป่าบนบก ที่ราว $5 - $8 tCO2e
อย่างไรก็ตาม โครงการคาร์บอนเครดิตโดยเฉพาะกักเก็บคาร์บอนจาก nature based solutions มีความท้าทายหลัก 3 ประเด็น 1) การพิสูจน์ว่าหากไม่มีเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตโครงการนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ (additionality) 2) คาร์บอนที่ถูกดึงออกจากอากาศจากโครงการนั้น ๆ จะถูกกักเก็บไว้นานเท่าไหร่ (permanence) เช่น ต้นไม้ในป่าจะไม่ถูกตัดจากการบุกรุก พื้นที่ปลูกป่าจะไม่ถูกนำไปใช้ทำประโยชน์อื่นในอนาคต เป็นต้น 3) การติดตามผลการดำเนินงานและประมาณการกักเก็บคาร์บอน (monitoring and accounting) เนื่องจากโครงการปลูกป่าต้องมีการติดตามและประเมินผลการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่รวมถึงตรวจวัดขอบเขตป่าเพื่อให้มั่นใจว่าพื้นที่ป่าไม่ลดลงอีกด้วย
ดังนั้น โครงการที่ผ่านมาตรฐานระดับสากลที่มีการพิจารณา 3 ประเด็นดังกล่าวแล้ว จะทำให้ผู้ซื้อมั่นใจในคาร์บอนเครดิตที่ได้รับและลดความเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าทำการ green wash อย่างไรก็ตาม วิธีการวัด (methodology) โครงการ blue carbon ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในปี 2020 Verra หนึ่งในผู้จัดทำมาตรฐานตรวจสอบ ประเมิน และออกใบรับรองคาร์บอนเครดิตหลักของโลกได้ออก Blue Carbon methodology เป็นเจ้าแรก ในขณะที่ Gold Standard อีกหนึ่งผู้จัดทำมาตรฐานหลักด้านคาร์บอนเครดิตก็อยู่ในระหว่างการพัฒนา methodology ของการปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลน การมีมาตรฐานสากลมารองรับ blue carbon จากป่าชายเลนจะสามารถทำให้โครงการเหล่านี้ดึงดูดแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ได้ โดยเฉพาะจากการเข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ที่มีแนวโน้มเติบโตจากความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและเอกชนในการมุ่งสู่เป้าหมาย net zero
การสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นโอกาสของไทยมุ่งสู่เป้าหมาย net zero โดยเฉพาะการลงทุนใน blue carbon นอกจากจะทำให้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณที่สูงกว่าโซลูชั่นอื่นแล้ว ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น นักวิชาการด้านป่าไม้ บุคลากรสำรวจพื้นที่ทั้งในการลงพื้นที่และผ่าน satellite image เพื่อติดตามการกักเก็บคาร์บอนของโครงการก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันโครงการ blue carbon ของไทยในอนาคต
_______________
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 11 เมษายน 2022