SHARE

Web 3.0: โลกอนาคต ที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

“We are now at the beginning of the Web3 era, which combines the decentralized, community-governed ethos of Web1 with the advanced ...

LINE_sharebutton<sup>1</sup>-(1)-(1).JPG

shutterstock_1119951185.jpg

“We are now at the beginning of the Web3 era, which combines the decentralized, community-governed ethos of Web1 with the advanced, modern functionality of Web2”.

Chris Dixon, ผู้ร่วมลงทุนใน บริษัทเงินทุน Andreessen Horowitz ใน Silicon Valley , (กันยายน 2021)



Web 3 คืออะไร ทำไมมีแต่คนพูดถึง?  คือรูปแบบเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ต ในยุคใหม่ ที่พัฒนามาจาก Web 2.0 มีลักษณะในการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง (decentralized web) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่มีลักษณะสำคัญ 3 ประการดังนี้คือ 1. Artificial Intelligence (AI)  2. Decentralize data 3. Edge computing ลักษณะที่สำคัญนี่เองทำให้ Web 3.0 มีความล้ำหน้าไปกว่า Web 1.0 และ Web 2.0 โดยแต่ละช่วงจะมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน ดังนี้

Web 1.0 จะเป็นเว็บไซต์ ที่ดึงข้อมูลมาจากเซิร์ฟเวอร์ ผู้ใช้จะอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว เปรียบเสมือนการสื่อสารทางเดียว ตัวอย่างเช่น web portal ต่าง ๆ

Web 2.0 เป็นอินเทอร์เน็ตที่เรากำลังใช้อยู่ทุกวันนี้ เป็นอินเทอร์เน็ตที่สามารถอ่าน และโต้ตอบตาม code ที่อนุญาตให้แก้ไขได้ ไม่ใช่แต่เพียงการอ่านเนื้อหาเพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้งานสามารถสร้าง content ได้เอง (user generated content) อย่างเช่น โซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ทวิตเตอร์ หรือการโหวตบนเว็บไซต์ผ่านเฟซบุ๊ก

Web 3.0 จะเป็นอินเทอร์เน็ต เปรียบเสมือนกับการพัฒนาไปอีกขั้น จาก Web 2.0 ในรูปแบบบริการที่กระจายข้อมูลจากศูนย์กลาง (decentralized) run บนบล็อกเชน ที่อนุญาตให้ทุกคนสามารถแก้ไขข้อมูลได้ โดยมีเทคโนโลยีที่ช่วยประกอบให้ Web 3.0 มีการตอบสนองผู้ใช้งานได้มากขึ้น คือ การใช้ Edge computing เทคโนโลยีที่ประมวลผลโดยใช้ cloud ที่อยู่ใกล้กับต้นทางเพื่อลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูล และ AI เพื่อให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น

จาก นิยามของ Web 3.0  สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้  Web 3.0  เกิดการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางได้คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งบล็อกเชนเปรียบเสมือนบัญชีบันทึกข้อมูลดิจิทัล โดยในแต่ละบล็อกจะเก็บข้อมูลในเครือข่าย และแชร์ข้อมูลทั้งหมดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือ node ทำให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันได้ หรือเป็นยุคที่ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลนั่นเอง


Picture1_web3.png
Web 3.0 จะ ช่วยให้การใช้อินเทอร์เน็ต ดีขึ้นจากยุค Web 2.0 ได้อย่างไร จากลักษณะของ Web 2.0 ที่ใช้ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า Web 2.0 มีจุดที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ ในลักษณะบางประการเช่น

1. ลดผลกระทบจากการล่มของระบบไอที ด้วยลักษณะ decentralized ที่มีการกระจายศูนย์กลาง ไม่มี Node ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุม (เซิร์ฟเวอร์) ส่งผลให้ไม่เกิดปัญหา Single Point of Failure ตัวอย่างของ Web 2.0 ในปัจจุบัน ที่มีปัญหาดังกล่าวที่เห็นได้ชัด อย่างเช่น เฟซบุ๊กที่ระบบล่มในปี 2019 ที่ส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานกว่า 2.3 พันล้านคน เป็นเวลานานกว่า 14 ชั่วโมง1หรือล่าสุดในปี 2021 ส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานกว่า 2.89 พันล้านคน เป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง หาก Web 3 ได้รับการพัฒนาให้เกิดขึ้น การเกิดขึ้นของ network แบบ decentralize จะช่วยลดโอกาสเกิดการล่มของระบบแบบ Web 2.0

2. เพิ่มความเป็นเจ้าของข้อมูลให้กับผู้เป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริงมากขึ้น Web 2.0 มีลักษณะการจัดการข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ที่ส่วนกลางและจัดการบนเซิร์ฟเวอร์ ทุกครั้งที่มีการโต้ตอบทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลของเราจะถูกส่งไปยังผู้ให้บริการ ผู้ใช้จึงสูญเสียการควบคุมข้อมูล การสูญเสียความเป็นส่วนตัว และการสูญเสียสิทธิในการครอบครองข้อมูลของตัวเอง (Lack of data privacy and sovereignty)

อีกประเด็นหนึ่งคือผู้ใช้มีการสูญเสียอำนาจการควบคุมข้อมูล เช่น ข้อมูลของเรา ถูกเก็บแยกตามเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันต่างๆ  ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของข้อมูล แต่เราไม่สามารถนำข้อมูลออกมาใช้ได้ ตามความต้องการของเรา เช่น เมื่อเราใช้เฟซบุ๊ก ลงรูปภาพของเรา หรือลงสถานะต่าง ๆ แต่เราก็ต้องการใช้ในโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ด้วย แต่เฟซบุ๊กไม่อนุญาตให้ข้อมูลของเรา ไปปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ทั้งที่เราเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ

แม้ว่า Web 3.0 จะช่วยส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม Web 3.0 ยังมีความเสี่ยงใหญ่ ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้หลายประการ เช่น

1. เนื่องจาก Web 3.0 ใช้หลักในการกระจายอำนาจในการควบคุม ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตยากที่จะควบคุมมากขึ้น คุณสมบัติหลักของ Web 3.0 คือการกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่าเว็บแอปพลิเคชันถูกจัดเก็บไว้ในบล็อกเชน เจ้าของคือผู้เข้าร่วมบล็อกเชนทั้งหมด และการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจะผ่านฉันทามติ

ประเด็นหลักคือ ไม่มีหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบข้อมูล ไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดว่าโปรแกรมหรือเนื้อหาใดที่สามารถเผยแพร่ได้ กฎระเบียบต่าง ๆ ยังปรับใช้ไม่ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกล และจะทำให้อาชญากรค้นพบวิธีใหม่ ๆ ในการใช้ระบบในทางที่ผิดมากขึ้น  ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ การละเมิดทางออนไลน์ ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดูแลเครือข่าย ยิ่งทรัพยากรน้อย ยิ่งทำให้การถูกโจมตีจากการโจรกรรมทางเว็บไซต์ง่ายขึ้น หรือเป็นช่องทางสำหรับการฟอกเงิน

2. แม้ว่า Web 3.0 จะมีหลักการที่สำคัญในการกระจายอำนาจการควบคุมข้อมูลต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงหลักการดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง คือเจ้าของทรัพยากร อย่างบริษัทเงินทุนต่าง ๆ หรือแม้แต่ big tech ที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์ Web 3.0  นอกจากนี้ การวางแผนที่จะสร้างแอป Web 3.0 ในบล็อกเชนบางตัว แอปอาจล่มได้ทุกเมื่อโดยการควบคุมของกลุ่มคนจำนวนจำกัดที่เป็นเจ้าของตลาดคริปโตรายใหญ่

3. ความยากในการเริ่มต้นใช้งาน  การพัฒนาระบบ การใช้ และการทำให้คนทั่วไปเข้าใจ เป็นเรื่องยาก

เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องบล็อกเชน และเทคโนโลยีต่าง ๆ

แม้ว่ายังมีปัญหาอีกมากที่ต้องแก้ไขใน Web 3 เพื่อให้เป็นมิตรกับมนุษย์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ย่อมเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดขึ้น

แม้ว่าจะมีประเด็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยในวิวัฒนาการ Decentralize แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดคือ บริษัท big tech ต่าง ๆ ได้เริ่มลงทุน เพื่อปูทางสำหรับการก้าวเข้าสู่โลก Web 3.0 เช่น ลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ metaverse ตัวอย่างเช่น กูเกิลสร้างประสบการณ์ immerses computing ที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผล ให้เป็น interface ที่จะสามารถโต้ตอบกันได้มากขึ้นในโลกเสมือนจริงที่ใช้ประสบการณ์ ไม่ใช่การคุยกับกล่องสี่เหลี่ยมอีกต่อไป

NVIDIA Corporation (NVDA) บริษัทชั้นนำผู้ผลิตหน่วยประมวลผลทางด้านกราฟิก (GPUs) สำหรับคอมพิวเตอร์ เริ่มมีการผลิต โซลูชั่นสำหรับเทคโนโลยียุคหน้า รวมถึงปัญญาประดิษฐ์, Internet of things, cloud computing และ ชิปขั้นสูง ที่มีความจำเป็นสำหรับการรันอัลกอริทึมที่ซับซ้อนสูงและเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล ซึ่งจำเป็นสำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชนในการทำงาน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ NVDA ได้ผลิตมาเพื่อตอบสนองการสร้างโลกเสมือนจริง เช่น โปรแกรมเพื่อสนับสนุนศิลปินและผู้สร้างเนื้อหาที่เน้นการสร้างโลกเสมือนจริงและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมประสบการณ์ของผู้ใช้ใน metaverse อย่าง "Omniverse" ที่เป็นซอฟต์แวร์ใหม่ที่พัฒนาโดย NVIDIA สำหรับสร้างโลกเสมือนจริงที่พร้อมใช้งาน

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2021 ทีม Decentralized Identity ของ Microsoft ได้เปิดตัวเครือข่าย ION Decentralized Identifier (DID) โดยใช้บล็อกเชนของ bitcoin เพื่อสร้างรหัสดิจิทัลสำหรับตรวจสอบตัวตนออนไลน์

ส่วนเฟซบุ๊ก วางแผนที่จะลงทุนอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ในการสร้าง Facebook Reality Labs ซึ่งเป็นแผนก metaverse ในการสร้าง AR และ VR

Venture Capital เริ่มให้ความสนใจ และบริษัทใหญ่ ๆ มีการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Web 3.0 เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับคริปโต รวมถึง Web 3.0 ในปี 2021 หรือกองทุนสำหรับสตาร์ตอัปที่มีชื่อเสียงอย่าง กองทุน Silicon Valley Draper Fund กำลังมองหาการลงทุน 75-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบล็อกเชนของอินเดียและการเริ่มต้นคริปโต

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องใช้โปรเซสเซอร์หรือระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่า อุปกรณ์เก่าจะไม่สามารถจัดการกับ Web 3.0 ได้ ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือคือ การเตรียมอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติสูงให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่นถัดไปได้ ประกอบกับต้องมีการเตรียมบุคลากรให้มีทักษะความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน สำหรับ Web 3.0 และภาคธุรกิจ จะต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับการก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ใน Web 3.0 ในแง่มุมของปัญญาประดิษฐ์ และ interface เสมือนจริง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่สูญเสียมูลค่าทางการตลาด หรือ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องปรับตัวไปด้วยกัน และอย่างน้อยที่สุด เพื่อการรู้เท่าทันปัญหาทางเทคโนโลยีที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคต



1NYTimes (4th October 2021)

_______________


เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 21 มีนาคม 2022

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ