SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 ธันวาคม 2014

ภาษีมรดก

ผู้เขียน:  ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

 145832270.jpg

ภาษีมรดก
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2557

โดย: เขมรัฐ ทรงอยู่

"นิด้าโพลเผยกลุ่มตัวอย่าง 69.58% ชี้เก็บ ภาษีมรดก ในอัตรา 10% เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ"

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

 

ภาษีมรดกคืออะไร ?  

ภาษีมรดกหรือที่นิยมเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Death Tax คือภาษีส่วนบุคคลที่รัฐเรียกเก็บจากทรัพย์สินอันตกทอดจากผู้ตายไปสู่ทายาทหรือผู้รับมรดก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งและทางรายได้ในสังคมสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป ภาษีมรดกที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันมีการเรียกเก็บอยู่สองประเภทคือ 1. ภาษีกองมรดก หรือ Estate Tax ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีจากยอดทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย หรือ "กองมรดก" ก่อนที่จะตกทอดไปสู่ทายาท โดยส่วนใหญ่จะเรียกเก็บในอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) ตามขนาดของกองมรดก และ 2. ภาษีผู้รับมรดก หรือ Inheritance Tax ซึ่งเรียกเก็บจากทายาทตามมูลค่าทรัพย์สินที่แต่ละบุคคลได้รับหลังการแบ่งกองมรดก

ภาษีมรดกแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร ?

ในปัจจุบันมีราว 15 ประเทศที่จัดเก็บภาษีกองมรดก (Estate Tax) เช่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ซึ่งข้อดีของการเก็บภาษีจากกองมรดกนี้ คือสามารถสร้างรายได้แก่รัฐเป็นจำนวนมากและง่ายต่อการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดที่พึงเรียกเก็บภาษีได้ เพราะคำนวณจากทรัพย์สินของผู้ตายเพียงบุคคลเดียว แต่ในทางกลับกัน หลายประเทศมองว่าการเก็บภาษีจากกองมรดกนั้นผิดหลักการเก็บภาษีตามความสามารถในการชำระ เนื่องจากการเก็บภาษีจากกองมรดกก่อนที่จะจัดสรรให้กับทายาทนั้น จะทำให้ทายาทที่ได้รับมรดกน้อยต้องแบกรับภาระภาษีในอัตราเดียวกันกับทายาทที่ได้รับมรดกมากกว่า

แนวคิดดังกล่าวทำให้รัฐบาลในกว่า 30 ประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เลือกที่จะเรียกเก็บภาษีผู้รับมรดก (Inheritance Tax) แทน เพราะมองว่าเป็นธรรมต่อผู้ที่ได้รับมรดกน้อย ซึ่งการบังคับใช้อาจเป็นการจัดเก็บแบบอัตราเดียว (Flat Rate) หรือจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้าก็ได้ แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี พบว่าการเก็บภาษีจากผู้รับมรดกนั้นมีข้อเสียด้านความซับซ้อนในกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินและยากต่อการจัดเก็บ เพราะต้องตามเรียกเก็บจากทายาททุกคนที่ได้รับการจัดสรรมรดก ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งบุคคล นอกจากนี้ยังพบว่าภาษีผู้รับมรดกมักไม่สร้างรายได้ให้แก่รัฐ และอาจไม่คุ้มต่อต้นทุนการบริหารจัดการภาษี เป็นเหตุให้บางประเทศตัดสินใจยกเลิกการเก็บภาษีมรดกเนื่องจากเหตุผลดังกล่าวเช่น ออสเตรเลีย เป็นต้น

8494_20141229170954.jpg

ภาษีมรดกของไทยมีหน้าตาอย่างไร ? แพงไปหรือไม่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น?

เดิมทีในประเทศไทยเคยมีการเก็บภาษีจากทรัพย์มรดกมาตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นกฎหมายตราสามดวง จนกระทั่งมาถึงในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็มีพ.ร.บ. อากรมรดกและอากรการรับมรดก พ.ศ. 2476 ซึ่งเรียกเก็บภาษีทั้งแบบภาษีกองมรดกและภาษีผู้รับมรดก แต่ได้ถูกยกเลิกไปในเวลา 10 ปีให้หลัง ด้วยเหตุผลด้านความยุ่งยากในการจัดเก็บและปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ จากความพยายามหลบเลี่ยงภาษี ต่อมาในปีพ.ศ. 2519 ได้มีการยกร่างพ.ร.บ.ภาษีกองมรดกขึ้นอีกครั้งและได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับเกิดรัฐประหารขึ้นในปีเดียวกันนั้น ก่อนที่พ.ร.บ. ดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ นับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีการเสนอร่างภาษีมรดกขึ้นอีกจนกระทั่งร่างภาษีมรดกฉบับปัจจุบัน โดยในเบื้องต้นนั้น ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดกฉบับปัจจุบันมีแนวทางที่จะเรียกเก็บแบบภาษีผู้รับมรดก (Inheritance Tax) ที่อัตราภาษี 10% จากมูลค่าของทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหากมองในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะพบว่าอัตราภาษีของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตรา 10% ของไทยมาก ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่เก็บภาษีกองมรดกในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 50% ประเทศญี่ปุ่นที่เก็บภาษีผู้รับมรดกในอัตราก้าวหน้าสูงสุดที่ 70% และประเทศอังกฤษที่เก็บภาษีผู้รับมรดกแบบอัตราเดียว 40%  แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกันจะพบว่าอัตราภาษีมีระดับใกล้เคียงกันเช่น ไต้หวันมีการเก็บภาษีกองมรดกในอัตราเดียวที่ 10% ในขณะที่ฟิลิปปินส์เก็บภาษีกองมรดกแบบอัตราก้าวหน้าที่ 5-20%                                                                 

เหตุใดภาษีมรดกถึงต้องบังคับใช้ควบคู่กับภาษีการรับให้ ?

ภาษีการรับให้ หรือ Gift Tax คือภาษีส่วนบุคคลที่เรียกเก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินที่บุคคลหนึ่งได้รับจากการให้โดยเสน่หา ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคลอื่นหรือจากนิติบุคคลก็ตาม จะเห็นได้ว่าหากรัฐบังคับใช้ภาษีมรดกเพียงอย่างเดียวนั้นย่อมสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของมรดกเลี่ยงภาษีมรดก ด้วยการถ่ายโอนทรัพย์สินให้แก่ทายาทก่อนที่ตนเองนั้นจะเสียชีวิต จนไม่เหลือทรัพย์สินเป็นกองมรดก ดังนั้นภาษีรับให้จึงมักจะออกมาควบคู่กับภาษีมรดกเพื่อเป็นการป้องกันพฤติกรรมดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหาการกระจายทรัพย์สินไปสู่คนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง เพื่อหลบเลี่ยงภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงได้อีกด้วย โดยเบื้องต้นร่างพ.ร.บ. ภาษีของไทยจะมีการเก็บภาษีการรับให้ที่อัตรา 5% จากมูลค่าทรัพย์สินรับให้เฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป

ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลกระทบจากภาษีมรดกหรือไม่?

ในงานศึกษาผลกระทบของภาษีมรดกมักมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของภาษีมรดกว่าอาจเป็นผลร้ายต่อกิจการขนาดเล็กหรือกิจการในครอบครัวที่มีสินทรัพย์ประกอบกิจการมูลค่าสูงอันเข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดก ในขณะที่รายรับไม่ได้สูงมากนัก ทำให้การส่งต่อทรัพย์มรดกแก่ทายาทรุ่นถัดไปอาจสร้างภาระภาษีที่เกินความสามารถในการชำระภาษีได้ หรืออีกมุมหนึ่งอาจลดแรงจูงใจในการประกอบกิจการและการลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากความกังวลต่อภาระภาษีมรดกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหาที่กล่าวมานั้นมีทางออกได้หลายทาง โดยหากศึกษาแนวทางการเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศจะพบว่า ร่างพ.ร.บ. ภาษีมรดกมักจะมีมาตรการลดหย่อนควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้ร่ำรวยต้องแบกรับภาระภาษีที่เกินกำลัง เช่น การอนุญาตให้ผ่อนชำระภาษีมรดกเป็นเวลาหลายปีแทนการชำระเป็นก้อนเดียวได้ เพื่อไม่เป็นการบีบบังคับให้ผู้รับมรดกต้องขายทรัพย์สินเพื่อมาชำระภาษี หรืออีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือกรณีกฎหมายภาษีมรดกของประเทศเยอรมนีที่มีมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ทายาทสูงสุดถึง 100% โดยมีข้อแม้ว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับมานั้นต้องเป็นสินทรัพย์เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ และผู้รับมรดกจะต้องดำเนินกิจการต่อไปอย่างน้อย 7 ปีโดยไม่ลดขนาดการจ้างงานในกิจการลง อย่างไรก็ดีแนวทางการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยนี้อาจกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหลบเลี่ยงภาษีได้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาควบคู่กับกฎหมายภาษีมรดก จึงควรมีการศึกษาในรายละเอียดปลีกย่อยและร่างขึ้นอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีและเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม


ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ