SHARE

ทางรอดจากภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมข้าวไทย

EIC พบ 3 สัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยเผชิญกับภาวะถดถอยมาอย่างยาวนาน ...

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG

Screen-Shot-2564-12-17-at-12.02.37.png


  • EIC พบ 3 สัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยเผชิญกับภาวะถดถอยมาอย่างยาวนาน ได้แก่ 1) ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2004 และในปี 2020 ปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 47 ปี 2) ความสามารถในการทำกำไรของผู้เล่นในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 และ 3) ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2009

  • อนึ่ง จุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่ความถดถอยของอุตสาหกรรมข้าวไทย เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่คู่แข่งต้นทุนต่ำก้าวเข้ามาแข่งขันกับไทยในตลาดข้าวคุณภาพสูง ซึ่งการที่คู่แข่งต้นทุนต่ำสามารถเสนอขายสินค้าข้าวที่มีคุณภาพสูงใกล้เคียงกับไทย ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกมีทางเลือกมากขึ้น และทำให้ต้นทุนในการส่งมอบสินค้ามีความสำคัญมากขึ้นต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกว่าจะเลือกซื้อข้าวจากแหล่งใด

  • อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมข้าวไทยมีต้นทุนในการผลิตข้าวที่สูงมาโดยตลอด ประกอบกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น จนทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก ซึ่งเมื่อไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง ปริมาณข้าวส่วนเกินในประเทศจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น กดดันให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง ไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวของคู่แข่งในตลาดโลก และทำให้ชาวนาไทยประสบกับภาวะขาดทุนหรือมีกำไรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าคู่แข่งในตลาดโลก

  • ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ชาวนาไทยส่วนใหญ่มีขีดจำกัดในการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนในหลายด้าน ได้แก่ 1) ชาวนาไทยได้รับเงินทุนช่วยเหลือเพื่อพัฒนาจากต่างประเทศในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับชาวนาในประเทศคู่แข่ง เนื่องจากประเทศคู่แข่งมีรายได้ต่อหัวประชากรที่ต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก 2)  งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและนวัตกรรมในการผลิตข้าวของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ 3) ชาวนาจำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ 4) ชาวนาส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก และ 5) ชาวนาไทยส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้นน้ำหรือชาวนาปรับตัวได้ช้า อุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนข้าวเปลือกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของต้นทุนในการแปรรูปข้าวสารเพื่อขาย ซึ่งขีดจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย และทำให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวงจรแห่งความถดถอยของอุตสาหกรรมข้าวไทยมาจนถึงทุกวันนี้

  • EIC เสนอ 7 แนวทางในการลงทุนโดยภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อช่วยปลดล็อกขีดจำกัดของชาวนาไทยดังต่อไปนี้ 1) ลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวนาไทย 2) ลงทุนสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำให้กับชาวนาทุกครัวเรือน 3) ลงทุนสร้างเครือข่ายความร่วมมือขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง 4) ลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ข้อมูล 5) ลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าแปรรูปขั้นสูงจากข้าวและของเหลือจากการผลิตข้าว 6) ลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอื่น ๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา และ 7) ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตลาดข้าวและตลาดปุ๋ยภายในประเทศ

  • แนวทางดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐ ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อทำให้ชาวนาไทยมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมข้าวไทยหลุดจากวงจรแห่งความถดถอย รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน

 


Button-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ