Low-carbon economy : มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
This is the decisive decade. This is the decade that we must make decisions to avoid the worst consequences of the climate crisis.
“This is the decisive decade. This is the decade that we must make decisions to avoid the worst consequences of the climate crisis. This is a moral imperative. An economic imperative. A moment of peril, but also a moment of extraordinary possibilities.”
Joe Biden, ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (22 เมษายน 2021)
การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไปเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดยหลายประเทศได้มีการตั้งนโยบายและเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีการร่วมมือกันในระดับนานาชาติอย่างเช่นข้อตกลง Paris Climate Agreement ในปี 2015 นอกจากนี้ หลายประเทศยังได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากวิกฤต COVID-19 ผ่านการใช้มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ low-carbon economy ควบคู่ไปด้วย โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงปัญหา วิธีการ และผลกระทบของแนวนโยบายสนับสนุนดังกล่าวว่ามีรายละเอียดอย่างไร รวมถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะนำนโยบายดังกล่าวมาใช้อีกด้วย
อุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงสู่ low-carbon economy มีอะไรบ้าง?
ความท้าทายในการพัฒนา low-carbon economy เกิดจากภาระต้นทุนที่อาจสูงขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ดังตัวอย่างเช่นการผลิตไฟฟ้าที่ยุโรป ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ที่ US$0.04/kWh ขณะที่ต้นทุนการผลิตจากโซลาร์ฟาร์มขนาดอุตสาหกรรมอยู่ที่ US$0.08/kWh[1] โดยนอกจากจะมีต้นทุนที่สูงกว่าแล้ว การใช้เทคโนโลยีสีเขียวยังต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับหลายบริษัท แม้การเปลี่ยนแปลงจะมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็ตาม ดังนั้น ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนา low-carbon economy ให้เกิดขึ้นจริง
ภาครัฐสามารถส่งเสริมการพัฒนา low-carbon economy ได้อย่างไร?
ภาครัฐสามารถพัฒนาระบบและเครื่องมือทางการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือกฎเกณฑ์ให้ภาคเอกชนคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงาน และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น ดังต่อไปนี้
· ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax): ระบบภาษีคาร์บอนคือการที่ภาครัฐคิดค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงาน ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนเพิ่มเติมของแต่ละบริษัท จึงทำให้ภาคเอกชนต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจด้วย นอกจากนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีคาร์บอนยังสร้างแรงจูงใจให้บริษัทหันมาลงทุนกับเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถจ่ายภาษีคาร์บอนได้ลดลง ในส่วนของรายได้จากการเก็บภาษีคาร์บอน ก็สามารถนำไปสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวเพิ่มเติม หรือช่วยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้อีกทอดหนึ่ง
· ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ emissions trading system (ETS): ระบบ ETS จะมีการจำหน่ายเครดิตคาร์บอนให้กับแต่ละบริษัท โดยภาครัฐจะวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับ business-as-usual ของแต่ละโรงงาน เพื่อเป็นฐานในการจำหน่ายเครดิตคาร์บอนให้กับแต่ละที่ หากมีโรงงานที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าจำนวนเครดิตที่มีอยู่ จะต้องไปซื้อเครดิตเพิ่มจากโรงงานที่มีเครดิตเหลือผ่านระบบ ETS โดยภาครัฐจะค่อย ๆ ลดจำนวนเครดิตที่จำหน่ายให้แต่ละโรงงานในทุก ๆ ปี เพื่อเพิ่มราคาของเครดิต และผลักดันให้แต่ละโรงงานหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยระบบ ETS จะใช้กลไกตลาดในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนแปลงง่ายที่สุดก่อน และจะค่อย ๆ ผลักดันให้ภาคธุรกิจอื่นเปลี่ยนแปลงตามทีหลัง
· ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond): เป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่ใช้เพื่อการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โครงการลดการปล่อยมลพิษ และโครงการปกป้องระบบนิเวศ ซึ่งโดยมาก ภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุน เช่น ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้อ หรือมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนเท่ากัน ดังนั้น การออกตราสารหนี้สีเขียวจะช่วยด้านการหาแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทเพื่อการจัดสรรเงินลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวที่ปกติอาจจะไม่สามารถหาทุนสนับสนุนได้ เนื่องจากต้องการจำนวนเงินลงทุนสูง และอาจต้องใช้เวลานานในการจ่ายหนี้คืน
ในความเป็นจริง สามมาตรการนี้สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยระบบภาษีคาร์บอนและระบบ ETS จะมีหน้าที่ในการเพิ่มผลประโยชน์ให้บริษัทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนการออกตราสารหนี้สีเขียวจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว โดยทั้งสามมาตรการถูกนำมาใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก เริ่มจากกว่า 40 ประเทศได้มีการนำระบบภาษีคาร์บอน และ/หรือ ระบบ ETS มาใช้แล้ว ซึ่งครอบคลุม 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก และมีอีก 16 ประเทศที่มีการออกตราสารหนี้สีเขียวแล้ว โดยในปี 2021 มูลค่าของตราสารหนี้สีเขียวทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้หากระบบที่ได้กล่าวถึงมีการใช้งานมากขึ้น ก็จะทำให้เทคโนโลยีสีเขียวมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการใช้งานจริง รวมถึงต้นทุนจะลดลงจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) สามารถลดค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งทำให้การพัฒนา low-carbon economy เกิดขึ้นได้จริงในที่สุด
การสร้าง low-carbon economy ในประเทศไทยอยู่ตรงไหนแล้ว?
แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีภาษีคาร์บอนหรือระบบ ETS ที่นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มีการศึกษาและโครงการนำร่องด้านการจัดระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (V-ETS) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ภายใต้ความดูแลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยจะต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีนโยบายไปในทิศทางใดหลังจากมีการศึกษาและโครงการนำร่องมาแล้วระยะหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของตราสารหนี้สีเขียว พบว่าเริ่มออกมาในตลาดบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2019 เป็นต้นมา
[1] International Renewable Energy Agency (2018)
เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 21 ตุลาคม 2021