ความเปราะบางที่ซ่อนตัวในตลาดแรงงานไทย
จากข้อมูลล่าสุด อัตราว่างงานของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 อยู่ที่ 1.9% ของกำลังแรงงาน ...
จากข้อมูลล่าสุด อัตราว่างงานของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 อยู่ที่ 1.9% ของกำลังแรงงาน ซึ่งปรับสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยในอดีตที่อัตราว่างงานของไทยจะอยู่ราว 1% จากผลของการระบาด COVID-19 ที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในหลายด้าน โดยแม้ว่าอัตราว่างงานรวมของไทยจะอยู่ในระดับไม่สูงนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ตลาดแรงงานของไทยก็มีความน่ากังวลจากหลายความเปราะบางที่ซ่อนตัวอยู่ ประกอบไปด้วยแรงงานที่มีงานทำมีรายได้ลดลงในวงกว้างจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง และการโยกย้ายของแรงงานไปทำงานที่มีรายได้ต่ำลง นอกจากนี้ สถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบันยังสร้างความน่ากังวลเกี่ยวกับผลิตภาพแรงงาน (productivity) ในอนาคตผ่านการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่เพิ่มขึ้นและการว่างงานนานขึ้นของคนที่ตกงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) แรงงานมีชั่วโมงทำงานน้อยลง สะท้อนจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานที่มีงานทำปรับลดลงราว 8% (เทียบข้อมูลช่วง H1/21 กับ H1/19 ซึ่งเป็นตัวแทนภาวะปกติก่อน COVID-19) โดยหากพิจารณาลงรายละเอียด ก็จะมีประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติม ประกอบไปด้วย
· จำนวนคนทำงานต่ำระดับ (ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ปรับเพิ่มขึ้นราว 14% (H1/21 เทียบกับ H1/19) โดยคิดเป็นคนจำนวนกว่า 8.4 ล้านคนที่มีการทำงานที่ต่ำระดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
· จำนวนคนเสมือนว่างงาน (ทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 62% (H1/21 เทียบกับ H1/19) โดยคิดเป็นคนจำนวนกว่า 8 แสนคนที่แม้ยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง แต่ก็ไม่มีงานทำเลย นอกจากนี้ กลุ่มคนเสมือนว่างงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรายได้อีกด้วย สะท้อนว่าแม้อัตราว่างงานจะไม่สูง แต่รายได้ของแรงงานกลับหายไปมาก
· ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าคนมีรายได้น้อยจะมีชั่วโมงการทำงานลดลงมากกว่าคนที่มีรายได้สูง ขณะที่คนที่มีการศึกษาต่ำก็มีชั่วโมงการทำงานลดลงมากกว่าคนที่มีการศึกษาสูง สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรับสูงขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองได้ในอนาคต
2) แรงงานย้ายไปทำงานที่มีรายได้ต่ำลง โดยแบ่งได้เป็น 2 มิติ คือ
· ย้ายจากสาขาที่มีรายได้สูงไปสาขาการผลิตที่มีรายได้ต่ำกว่า โดยหากเทียบข้อมูล H1/21 กับ H1/19 จะพบว่าสาขาการผลิตที่มีแรงงานลดลงมาก ได้แก่ โรงแรม ค้าส่งค้าปลีก และการผลิต ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของไทยและมีอัตราค่าแรงที่สูงกว่า ขณะที่สาขาที่มีแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ เกษตรกรรม ร้านอาหาร และก่อสร้าง ซึ่งมีอัตราค่าแรงที่ต่ำกว่า ดังนั้น การเคลื่อนย้ายของแรงงานที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนว่าแม้จะมียังมีงานทำ แต่แรงงานกลับมีรายได้ลดลง
· ย้ายไปทำงานอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น โดยหากพิจารณาการมีงานทำตามลักษณะอาชีพช่วง H1/21 เทียบกับ H1/19 พบว่าแรงงานที่เป็นลูกจ้างเอกชนและนายจ้างปรับลดลงมาก ขณะที่แรงงานที่ทำงานอิสระปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเป็นการย้ายจากอาชีพที่มีรายได้มากและมั่นคงกว่าไปยังอาชีพที่มีรายได้น้อยและมั่นคงน้อยกว่า (โดยเฉลี่ยจากข้อมูล) รวมถึงสวัสดิการการทำงานที่จะหายไป สอดคล้องกับสัดส่วนแรงงานในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) ที่ปรับลดลงจาก 31.2% ต่อจำนวนผู้มีงานทำรวมในช่วงปลายปี 2019 เหลือเพียง 29.3% ในช่วง H1/21 หรือปรับลดลงราว 6 แสนคน
3) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) ในอนาคตมีความน่ากังวลจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก
· แรงงานอายุน้อยว่างงานเพิ่มขึ้นมาก (youth unemployment) โดยจากข้อมูลล่าสุดในช่วง H1/21 มีแรงงานเด็กจบใหม่ที่ว่างงานกว่า 8.5% ของกำลังแรงงาน หรือราว 3.2 แสนคน เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2014-19 ที่มีแรงงานจบใหม่ว่างงานเพียง 2 แสนคน ซึ่งการที่แรงงานจบใหม่ไม่มีงานทำนอกจากจะกระทบต่อรายได้ที่หายไปโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อทักษะของแรงงานเด็กจบใหม่ที่จะหายไปในช่วงที่ว่างงาน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของประเทศในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ดังนั้น การว่างงานที่เกิดขึ้นจึงอาจส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของแรงงานไทยในอนาคตได้
· แรงงานว่างงานนานขึ้น โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในช่วง H1/21 มีแรงงาน 9.4 หมื่นคน ที่ตกงานนานกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี เทียบกับ ค่าเฉลี่ยปี 2014-19 ที่มีเพียง 2 หมื่นคน ขณะที่แรงงานที่ตกงานนานกว่า 1 ปี มีถึง 8.6 หมื่นคน มากกว่าค่าเฉลี่ยปี 2014-19 ที่มีเพียง 2.3 หมื่นคน ซึ่งจากหลายงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการว่างงานเป็นเวลานาน (Long-term unemployment) นอกจากจะส่งผลเสียโดยตรงต่อรายได้และการบริโภคของแรงงานที่หายไปมาก ยังส่งผลกระทบอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อแรงงานว่างงานนาน ก็จะทำให้ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานหายไปเรื่อย ๆ จึงทำให้หางานยากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทักษะแรงงานที่จำเป็นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากข้อมูลการประกาศหางานบน JobsDB.com ที่พบว่างานประเภท E-commerce เป็นงานที่ได้รับความสนใจมากที่สุด แต่แรงงานที่ตกงานอาจไม่มีทักษะด้านนี้เพียงพอ ดังนั้น แรงงานที่ว่างงานนานจึงมีแนวโน้มหางานยากขึ้น และหากแรงงานสามารถกลับไปทำงานได้ ส่วนใหญ่ก็จะได้รับรายได้ลดลงตามระดับทักษะที่ต่ำและตามยุคไม่ทัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานในภาพรวม ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
นอกจากความเปราะบางที่ซ่อนตัวในตลาดแรงงานตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า แรงงานไทยยังประสบปัญหาหนี้สูง สะท้อนจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.5% ต่อ GDP ในช่วง Q1/21 โดย EIC คาดว่าระดับหนี้จะยังคงสูงต่อเนื่องในปีนี้ นอกจากนี้ EIC ยังได้ทำการวิเคราะห์การสืบค้นเงินกู้-เงินด่วน บน Google (Google Trends) ก็พบว่าคนไทยมีแนวโน้มต้องการกู้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ค่อนข้างมาก จึงอาจสะท้อนว่าแรงงานไทยในปัจจุบันประสบปัญหาหนี้สูงทั้งในและนอกระบบ ทั้งนี้ความเปราะบางที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานและปัญหาหนี้สูงจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายภาคประชาชน ซึ่งภาครัฐสามารถออกนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบระยะสั้นได้ผ่านการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาให้เร็วที่สุด โดยนโยบายที่จำเป็นคือการเร่งฉีดวัคซีนและควบคุมให้การระบาดให้ดีขึ้นจนทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่มีรายได้ลดลงมาก รวมถึงการช่วยเหลือจูงใจภาคธุรกิจให้คงการจ้างงาน หรือ เพิ่มการจ้างงานเพื่อเป็นการสร้างงานและรายได้ให้ประชาชน ขณะที่ในระยะยาว ภาครัฐควรมีนโยบายเพิ่มผลิตภาพแรงงานผ่านการเพิ่มและปรับทักษะแรงงาน (Up/Re-skill) เพื่อให้แรงงานมีทักษะจำเป็นที่เพียงพอต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs โดยเฉพาะเรื่อง Digital Transformation เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างงานหลักของแรงงานไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 18 ตุลาคม 2021