SHARE

ผลกระทบของภาคอสังหาฯ จีนที่หดตัว และวิกฤตพลังงานในจีน ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีน รวมถึงภูมิภาค EM-Asia

ตลาดอสังหาฯ ของจีนขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ...

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG



Screen-Shot-2564-10-11-at-15.55.33.png

  • ตลาดอสังหาฯ ของจีนขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนหนี้สินรวม (total liabilities) ของภาคอสังหาฯ จีน เพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านล้านหยวน ในปี 2009 เป็น 85.7 ล้านล้านหยวน ในปี 2020 ทำให้ทางการจีนต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมการก่อหนี้ และลดความร้อนแรงของราคาอสังหาฯ ผ่านการดำเนินนโยบาย “สามเส้นแดง” หรือ “Three Red Lines”
    และมาตรการจำกัดการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ 

  • นโยบายของภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาฯ ในปี 2021 ปรับชะลอลง อีกทั้งยังเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับโครงสร้างหนี้เดิมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของภาครัฐ ผ่านการเร่งขายที่ดินในราคาต่ำกว่าตลาด หรือหยุดการดำเนินโครงการอสังหาฯ บางโครงการเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัท ส่งผลให้ยอดขายและรายได้ของบริษัทลดลง กอปรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กดดันการขยายตัวของยอดขายภาคอสังหาฯ ในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทอสังหาฯ อ่อนแอลง และบริษัทที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตนี้คือ Evergrande

  • Evergrande มีหนี้สินรวม (Total liabilities) สูงถึง 2 ล้านล้านหยวน (3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็น 2% ของ GDP ของจีน และมีสัดส่วนหนี้ระยะสั้นในอัตราที่สูงกว่าบริษัทอื่น ๆ ส่งผลให้บริษัทเผชิญภาวะตึงตัวทางการเงินจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดของภาครัฐ อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทหันไปลงทุนในธุรกิจ EV ทำให้สภาพคล่องบริษัทเหลือน้อย โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Fitch, S&P, Chengxin (CCXI) ได้ปรับลด credit rating ของ Evergrande ลง เป็น CC, CC และ A ตามลำดับ จากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และเนื่องจาก Evergrande เป็นบริษัทใหญ่และมีความเกี่ยวเนื่องกับหลายธุรกิจ จึงทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อผลกระทบที่อาจลุกลามรุนแรงได้

  • ตลาดอสังหาฯ จีนที่มีแนวโน้มหดตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวชะลอลงในระยะสั้น (คาดว่าผลกระทบต่อ GDP ในปี 2022 ราว 1.4 ppt) โดยช่องทางผลกระทบประกอบด้วย 1) กิจกรรมการก่อสร้างที่ลดลง จากความสามารถในการก่อหนี้ และจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ (Housing starts) ที่ลดลง 2) ยอดขายที่ดินที่ลดลง ส่งผลต่อรายได้ การใช้จ่าย และความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลท้องถิ่น และ 3) wealth effect จากราคาอสังหาฯ ที่ลดลง กระทบต่อระดับการบริโภคของภาคเอกชน

  • อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปคาดว่าสถานการณ์น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ และจะไม่ลุกลามจนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เนื่องจาก 1) มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ ของจีนมีความเข้มงวดอยู่แล้ว 2) การกู้ยืมของ Evergrande ผ่านธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนเพียง 0.22% ของเงินกู้ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จีน 3) สถาบันการเงินจีนแข็งแกร่ง จากกระบวนการลดภาระหนี้สินในระบบ (Deleverage) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

  • นอกจากนี้ EIC คาดว่า รัฐบาลจีนมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง แม้ว่าจะไม่ได้เข้าช่วยเหลือบริษัทในภาคอสังหาฯ โดยตรง โดยรัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญกับผู้ซื้อบ้านและระบบสถาบันการเงินมากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ซื้อบ้านและหลีกเลี่ยง "ความเสี่ยงเชิงระบบ" ในตลาดการเงิน

  • สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกน่าจะมีจำกัด เนื่องจาก Evergrande มีหนี้คงค้างในตลาด offshore1 ไม่มากนัก ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยก็จำกัดเช่นกัน จากการลงทุนใน China HY Property ที่มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งหมดของแต่ละกองทุน

  • นอกจากนี้ ภาคก่อสร้างจีนที่ได้รับผลกระทบจากกรณี Evergrande อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยบางอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าประเภทไม้ (wood) ที่พบว่าพึ่งพาภาคก่อสร้างจีนมากและมีตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมแร่อโลหะ (Non-metallic Mineral) ที่พึ่งพาภาคก่อสร้างจีนมาก แต่ไม่ได้มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก จะได้รับผลกระทบรองลงมา

  • นอกเหนือจากแรงกดดันจากภาคอสังหาฯ จีนแล้ว มาตรการภาครัฐที่ควบคุมการใช้พลังงานอย่างเข้มงวด ก็เพิ่มแรงกดดันต่อการใช้พลังงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และส่งผลให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยกดดันการเติบโตของจีนในครึ่งปีหลัง โดยการลดระดับการใช้พลังงานเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1) การบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในการควบคุมการใช้พลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนของประเทศภายในปี 2030 และ 2) ความพยายามที่จะลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหิน ส่งผลให้อุปทานของถ่านหินไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้น บริษัทจึงต้องลดการบริโภคพลังงานลง

  • สำหรับผลกระทบระยะสั้นของมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดนี้ คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปีหน้า โดยคาดว่าอุตสาหกรรมจีนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตสูง เช่น โลหะเหล็ก โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และแร่อโลหะ

  • โดยสรุป เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากทั้งการหดตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขาดแคลนพลังงานซึ่งส่งผลต่ออุปทานของสินค้าในบางอุตสาหกรรม จึงทำให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้ EIC ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2021 เหลือ 8.0% (จากการคาดกาณ์ก่อนหน้านี้ที่ 8.4%) และในปี 2022 ลดลงมาอยู่ที่ราว 5.3-5.5%

    1 Offshore ในที่นี้หมายถึง ตลาดต่างประเทศ หรือ บริษัทที่อยู่นอกจีน



    Button-01-(1).jpg
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ