SHARE

ภาวะการ “ไม่มี” งานทำของประชากรไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตของคนแทบทุกกลุ่ม ...

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG


Screen-Shot-2564-10-01-at-09.27.48.png

อย่างที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตของคนแทบทุกกลุ่ม และแน่นอนว่าตลาดแรงงานก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้เช่นกัน จากการที่หลายธุรกิจต้องหยุดหรือปิดกิจการ นำไปสู่การลดชั่วโมงทำงาน การหยุดจ้างชั่วคราว หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้างแรงงานของธุรกิจ โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร อัตราการว่างงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.9% ของกำลังแรงงานทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 0.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 (ซึ่งต่อจากนี้จะเรียกว่า “ช่วงก่อนโควิด”) 

ทั้งนี้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง ส่วนหนึ่งมาจากการหยุด-เลิกกิจการ รวมไปถึงการเลย์ออฟพนักงานของภาคธุรกิจ โดยสัดส่วนของคนว่างงานที่มีสาเหตุจากการหยุด-เลิกกิจการหรือถูกให้ออกจากงานในช่วงครึ่งแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 31.9% ของคนว่างงานทั้งหมด (เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 8.5% ในช่วงก่อนโควิด) จนกลายเป็นสาเหตุหลักของการว่างงานของแรงงานไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด

นอกจากการว่างงานจะเพิ่มจำนวนขึ้นแล้ว การว่างงานยังกินเวลานานขึ้นอีกด้วย โดยช่วงครึ่งปีแรก จำนวนคนที่ว่างงานมานานกว่า 6 เดือนแต่ไม่เกิน 1 ปี นับจากงานล่าสุดที่เคยทำ อยู่ที่ 9.4 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 438.3% หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด และจำนวนคนที่ว่างงานมานานกว่า 1 ปี ก็เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8.6 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 332.6% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงมากเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนว่างงานในภาพรวม

ไม่ใช่เฉพาะคนว่างงานกลุ่มที่เคยทำงานมาแล้วเท่านั้นที่ว่างงานนานขึ้น แต่กลุ่ม “แรงงานหน้าใหม่” ก็ยังใช้เวลาหางานยาวนานกว่าที่ผ่านมา โดยจากแรงงานหน้าใหม่ หรือกลุ่มแรงงานไม่เคยทำงานมาก่อนและกำลังว่างงานอยู่ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 2.7 แสนคน มีจำนวนถึง 9.5 หมื่นคน หรือคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้เวลาหางานมานานกว่า 6 เดือนแล้วแต่ก็ยังคงไม่มีงานทำ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงก่อนโควิด 

แน่นอนว่าการไม่มีงานทำนั้นย่อมทำให้รายได้ลดน้อยลงด้วย แต่นอกจากการขาดรายได้แล้ว ทั้งการว่างงานที่ยาวนานและการขาดช่วงในการเข้าสู่การทำงานจริงของกลุ่มแรงงานหน้าใหม่ก็จะทำให้การพัฒนาทักษะของแรงงานกลุ่มนี้หยุดชะงักด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากจะทำให้การหางานยิ่งยากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่ธุรกิจต้องปรับตัวตามการพัฒนาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยอาจสะท้อนได้จากเทรนด์การประกาศจ้างงานบนเว็บไซต์ JobsDB.com ที่จำนวนงานในธุรกิจที่เติบโตไปกับกระแสเทคโนโลยีอย่าง E-commerce โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เติบโตแซงระดับช่วงก่อนโควิดไปแล้ว ขณะที่งานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและน่าจะฟื้นได้ช้าอย่างภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีแนวโน้มจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวนี้ ทำให้แรงงานที่ไม่ได้มีความพร้อมในทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ อีกทั้งยังขาดโอกาสในฝึกทักษะจากการทำงานต้องพบเจอกับความยากในการหางานมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่างานที่กำลังเป็นที่ต้องการนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ทักษะที่ต่างจากกลุ่มงานที่หายไปอยู่มาก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับคนที่ตกงานจากธุรกิจที่เป็นขาลงในการที่จะหางานใหม่ในธุรกิจที่กำลังเติบโต

ผลพวงอีกอย่างหนึ่งที่น่ากังวลคือ การที่แรงงานกลุ่มนี้จะกลายเป็นแรงงานที่ “หมดกำลังใจ” ในการหางานทำ หรือกลุ่มคนว่างงานที่เชื่อว่าตนเองหางานไม่ได้ ซึ่งในช่วงแรกของปี คนกลุ่มนี้มีจำนวน 4.9 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 185.7% จากช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและปัญหาทักษะที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด (skill mismatch) นอกจากนี้ การที่แรงงานหมดกำลังใจในการหางานอาจนำไปสู่การตัดสินใจออกจากตลาดแรงงานของคนกลุ่มนี้ก็เป็นได้ หากระยะเวลาที่พวกเขาว่างงานยังยืดเยื้อต่อไป

จะเห็นได้ว่า การว่างงานของแรงงานไทยนั้นได้ซ่อนความน่ากังวลไว้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงานที่ยาวนานของแรงงานกลุ่มที่เคยทำงาน หรือการที่แรงงานหน้าใหม่หางานได้ยากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นความท้าทายที่สำคัญมากของอนาคตตลาดแรงงานไทย การปรับ-เพิ่มทักษะเพื่อให้แรงงานมีทักษะที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคตได้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยประคับประคองตลาดแรงงานไทยให้พัฒนาต่อไป ซึ่งหากแรงงานไม่สามารถปรับ-เพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตได้ การหางานในระยะข้างหน้าก็อาจจะเป็นไปได้ยาก หรืออาจมีรายได้ที่ลดลงเนื่องจากงานที่สามารถทำได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจน้อยลง และงานบางประเภทที่ต้องการทักษะสูง เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยี ก็จะขาดแคลนคนมาทำงานได้

ดังนั้น นโยบายภาครัฐจึงควรต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดการปรับ-เพิ่มทักษะของแรงงานในทุกกลุ่มให้พร้อมสำหรับประเภทงานที่ตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มที่มีทักษะน้อย หรือมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ ทั้งนี้หากแรงงานทักษะน้อยยังไม่ได้รับการปรับ-เพิ่มทักษะให้เพียงพอ พวกเขาก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือหางานทำได้ในอนาคต นำไปสู่การลดลงหรือขาดรายได้ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำปัญหาที่สำคัญอื่น ๆ ของภาคครัวเรือนไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ หรือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมระยะข้างหน้า


                                                     

เผยแพร่ในบทความไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 1 ตุลาคม 2021

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ