SHARE

GDP ไทยไตรมาส 2/2021 ขยายตัว 7.5% จากปัจจัยฐานต่ำ โดยมีแรงสนับสนุน จากการส่งออกสินค้าและเม็ดเงินภาครัฐ ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วตามการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน จากผลกระทบของการระบาดระลอกที่ 3

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัวที่ 7.5%YOY จากฐานต่ำในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ...

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG

Flash_GDP_Q22021-01.jpg

  • เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัวที่ 7.5%YOY จากฐานต่ำในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตที่ 0.4%QOQ_sa สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัวและมีแรงส่งค่อนข้างน้อย โดยเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างกันมากในแง่ของการฟื้นตัว (uneven) ระหว่างสาขาเศรษฐกิจ กล่าวคือ ภาคส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ดี ควบคู่ไปกับเม็ดเงินภาครัฐที่อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) ในประเทศยังซบเซาและได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากผลของการระบาดระลอกที่ 3 และหากพิจารณาด้านการผลิต เศรษฐกิจไทยก็มีความแตกต่าง (uneven) เช่นกัน โดยภาคเกษตรฟื้นตัวได้ดีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยขึ้น ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมฟื้นตัวตามภาคการส่งออกสินค้า แต่ภาคบริการยังหดตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

  • ในระยะต่อไป EIC คาดเศรษฐกิจไตรมาส 3/2021 จะยังทรุดตัวต่อเนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลของมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาข้อมูลดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหว (Mobility) ของทั้ง Google และ Facebook ให้ภาพตรงกันว่าผลกระทบของการระบาดได้ปรับแย่ลงเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จะปรับลดลงเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และทำให้มาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น

  • ในภาพรวม ตัวเลข GDP ล่าสุดยังสอดคล้องกับการประมาณการของ EIC ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2021 จะขยายตัวในกรณีฐานที่ 0.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่พึ่งพาการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่การระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่องได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงทำให้ปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจ
    ด้านการเปิดปิดกิจการ ตลาดแรงงาน และภาระหนี้ ปรับแย่ลง จึงทำให้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มซบเซาและฟื้นตัวช้า

  • ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่มีโอกาสปรับแย่มากกว่าคาด ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อและระยะเวลาในการควบคุมโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนที่อาจล่าช้าออกไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปิดโรงงานหลายแห่งที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกได้ ขณะที่อาจมีความเสี่ยงภาครัฐจากเม็ดเงินมาตรการที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด และความเสี่ยงสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่อาจต้านทานวัคซีนได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

Button-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ