SHARE
SCB EIC BRIEF
19 กรกฏาคม 2021

COVID-19 Education Disruption: นัยต่อสังคมและเศรษฐกิจเมื่อโลกเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์

แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤต COVID-19 มาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่หลายประเทศก็ยังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่อยู่เรื่อย ๆ

LINE_sharebutton<sup>1</sup>-(1)-(1).JPG

Screen-Shot-2564-07-19-at-09.47.49.png



แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤต COVID-19 มาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่หลายประเทศก็ยังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่อยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้ภาครัฐต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในมาตรการควบคุมการระบาดที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบระยะยาวต่อสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ เนื่องจากหลายครอบครัวเผชิญปัญหาในการปรับตัวต่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งด้านอุปกรณ์ สถานที่ หรือแม้กระทั้งความพร้อมด้านจิตใจของนักเรียน ครูอาจารย์ และผู้ปกครองเอง จึงทำให้คุณภาพของการศึกษาลดลง ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าวิกฤต COVID-19 ทำให้มีนักเรียนจำนวนหนึ่งไม่สามารถศึกษาต่อได้ หรือได้รับคุณภาพการศึกษาลดลง ซึ่งทำให้นักศึกษาเหล่านี้อาจสูญเสียรายได้ในอนาคต คิดเป็นเงินรวมกันจากทั้งโลกกว่าสิบล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ1นอกจากนี้ การปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ยังเป็นปัจจัยเพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศ เนื่องจากครอบครัวรายได้น้อย นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการศึกษา อาจปรับตัวต่อการเรียนออนไลน์ได้ยากกว่า และยังเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำอีกด้วย เนื่องจากประเทศรายได้สูงมีอัตราการฉีดวัคซีนที่เร็วกว่าส่งผลให้ทยอยเปิดโรงเรียนได้ ตลอดจนยังมีเทคโนโลยีสำหรับการเรียนออนไลน์ที่เพียบพร้อมกว่า รวมถึงความสามารถทางการคลังในการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคการศึกษาก็มีมากกว่า

ข้อมูลจาก World Bank เผยว่า ณ วันที่ 15 มีนาคม 2021 ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกมีการบังคับใช้มาตรการปิดโรงเรียนทั่วประเทศหรือปิดโรงเรียนบางส่วน หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียนกว่า 774 ล้านคน ขณะที่กว่าครึ่งของประเทศทั่วโลก มีการเปิดเรียนแล้วแต่ไม่ได้เปิดอย่างเต็มรูปแบบ และยังคงมีมาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ อยู่ ทั้งนี้ถึงแม้จะมีการเปิดโรงเรียน แต่นักเรียนบางส่วนยังคงเลือกที่จะไม่กลับไปเรียนที่โรงเรียนด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ หรือถึงขั้นออกจากระบบการศึกษาไปเลยด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ เช่น นักเรียนจำเป็นต้องหางานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในยามวิกฤต หรือเหตุผลทางด้านการศึกษา เช่น การเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจ ทำให้ผลการเรียนแย่ลงและสูญเสียแรงจูงใจในการเรียนต่อ ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตด้านการศึกษาเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพื่อลดผลกระทบระยะยาวให้มากที่สุด

การระบาดของ COVID-19 กระทบต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไรบ้าง?

วิกฤต COVID-19 นอกจากจะบังคับให้นักเรียนนักศึกษาต้องปรับตัวสำหรับการเรียนในรูปแบบใหม่แล้ว ยังคงมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาในทางอ้อมผ่านหลายช่องทางอีกด้วย ดังนี้ :

1) ความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน : การเรียนผ่านช่องทางออนไลน์และช่องทางการสอนทางไกลอื่น ๆ จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางครอบครัวโดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงและยังมีค่าการซ่อมบำรุงที่สูงเช่นกัน ซึ่งทำให้บางครอบครัวที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤต COVID-19 ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นได้ ผลสำรวจจาก UNICEF เผยว่า 71 ประเทศจากทั้งหมด 183 ประเทศมีจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ต่ำกว่า 50% โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชีย2 ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและเทคโนโลยี ทั้งนี้ถึงแม้ว่าบางครอบครัวจะมีอุปกรณ์เหล่านี้ แต่นักเรียนอาจขาดทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ที่เพียงพอสำหรับการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพการศึกษาที่ได้รับเช่นกัน

2) สภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวยต่อการศึกษา : เนื่องจากการเรียนทางไกลเป็นรูปแบบการเรียนใหม่ นักเรียนนักศึกษาอาจไม่สามารถปรับตัวได้ทันซึ่งจะผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ เช่น การไม่มีสมาธิและการขาดกำลังใจในการเรียนเนื่องจากไม่ได้พบเพื่อน ๆ และครูอาจารย์โดยตรง หรืออุปสรรคในการเรียนวิชาที่เรียนทางไกลได้ลำบาก เช่น วิชาพละศึกษาและวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้เข้าใจบทเรียนได้ช้ากว่าการเรียนในห้องเรียน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้นักเรียนเกิดปัญหาเรียนไม่ทันคนอื่น ๆ และเกิดอาการท้อแท้หมดกำลังใจในการเรียน ซึ่งอาจกระทบต่อผลการศึกษาได้

3) ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ : วิกฤต COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างมีนัยและหลายครอบครัวมีรายได้ที่ลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อศักยภาพในการจ่ายค่าเล่าเรียนและการซื้ออุปกรณ์การเรียน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง นอกจากนี้ นักเรียนนักศึกษาบางรายอาจจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อหารายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัวหรือส่งตัวเองเรียนต่อ ซึ่งอาจทำให้การศึกษาไม่ต่อเนื่อง การศึกษาจาก UNICEF คาดว่าจะมีจำนวนนักเรียนอย่างน้อย 24 ล้านคนทั่วโลกที่อาจออกจากระบบการศึกษาเนื่องด้วยวิกฤต COVID-19 และผลสำรวจยังพบว่า หากนักเรียนยิ่งออกจากการเรียนเป็นเวลานานจะยิ่งทำให้โอกาสการกลับเข้าเรียนลดลง3

4) การขาดการสนับสนุนด้านอื่นจากโรงเรียน : นอกจากโรงเรียนจะเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นสถานที่ให้การสนับสนุนนักเรียนในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านโภชนาการ การปรึกษา การพยาบาล และอุปกรณ์การกีฬา ซึ่งการขาดการสนับสนุนเหล่านี้นอกจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองสูงขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมการเรียนที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพการศึกษาได้ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมอยู่แล้ว

5) งบประมาณสำหรับการศึกษาที่น้อยลง : ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ภาครัฐต้องเร่งเยียวยาประชาชนเป็นจำนวนมาก ขณะที่การจัดเก็บรายได้ภาครัฐลดลง ทำให้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องลดการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาไปส่วนอื่น ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการสร้างและพัฒนาโรงเรียน การจ้างครูอาจารย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ในระยะต่อไป โดยประมาณการจากธนาคารโลกคาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐสำหรับการศึกษาต่อหัวเฉลี่ยทั่วโลกจะหดตัว -5.7%YOY ในปี 2020 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่จะหดตัวประมาณ -8.4%YOY และคาดว่ายังจะหดตัวต่อเนื่องในปี 2021 ที่ -0.5%YOY4

คุณภาพการศึกษาที่ลดลงมีนัยต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร?

คุณภาพการศึกษาและเวลาในการเรียนที่ลดลงมีแนวโน้มส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ในอนาคตจากผลิตภาพแรงงานที่อาจลดลง โดยจากการประเมินของธนาคารโลกพบว่าวิกฤต COVID-19 อาจส่งผลให้ระยะเวลาการเรียนของนักเรียนเมื่อปรับต่อคุณภาพ (years of schooling adjusted for quality) ลดลง 0.6 ปีเหลือ 7.3 ปีโดยเฉลี่ยหากมีการปิดโรงเรียน 5 เดือน ซึ่งคิดเป็นรายได้ที่หายไปประมาณ 872 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือประมาณ 16,000 ดอลลาร์สหรัฐตลอดอายุการทำงานเมื่อคิดเป็นเงินมูลค่าปัจจุบัน (present value) ขณะเดียวกัน การประเมินของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) พบผลที่สอดคล้องกัน โดยคาดว่าผลกระทบจากการปิดโรงเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งผลให้รายได้ของนักเรียนลดลงประมาณ 167 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือประมาณ -1.9% ในกรณีรุนแรงระดับกลาง (intermediate) ซึ่งรายได้รวมที่หายไปตลอดอายุการทำงานในทั้งภูมิภาคจะอยู่ที่ 1.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ5

นอกจากผลกระทบต่อนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองเองก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเมื่อมีการเรียนออนไลน์ เช่น อาจจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อหาเวลาสำหรับการดูแลบุตรหลานที่เรียนอยู่ที่บ้านโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก หรือหากผู้ปกครองสามารถทำงานที่บ้านได้ก็อาจพบว่ามีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงเนื่องจากต้องแบ่งเวลาดูแลบุตรหลาน ซึ่งอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (labor force participation rate) ที่ลดลงนี้ เป็นอีกผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป

สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไรและภาครัฐควรทำอะไรบ้าง?

สัดส่วนของครัวเรือนไทยที่มีความเพียบพร้อมต่อการเรียนออนไลน์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สะท้อนจากสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ซึ่งมีอยู่เพียง 20.9% ในปี 2018 (รูปที่ 1) และสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ 51.5% ณ ไตรมาส 3 ปี 2020 (รูปที่ 2) โดยถึงแม้ว่าสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีครัวเรือนจำนวนมากที่อาจไม่เพียบพร้อมต่อการเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลานาน

Screen-Shot-2564-07-19-at-09.19.40.png

ณ ปัจจุบันแม้จะมีช่องทางเรียนทางไกลอยู่แล้ว เช่น DLTV และเว็บไซต์ครูพร้อม แต่ภาครัฐก็ควรพัฒนาช่องทางเหล่านี้ต่อไปเพื่อให้ใช้งานง่ายขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น และตอบโจทย์ของครู นักเรียนและผู้ปกครอง สิ่งที่ภาครัฐควรทำต่อไป ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ทั่วถึงมากขึ้น การเพิ่มการสอนด้านทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลในหลักสูตรการเรียน มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และการเพิ่มช่องทางการสอนในหลาย ๆ ช่องทางรวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย ทั้งนี้การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อให้สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาว ภาครัฐควรคำนึงถึงภาคการศึกษาสำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลัง COVID-19 เนื่องจากการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤต COVID-19 อีกด้วย

1 COVID-19 Could Lead to Permanent Loss in Learning and Trillions of Dollars in Lost Earnings, World Bank. (June 2020)
2 Innocenti Research Brief 2020-10, UNICEF
3 UNICEF Executive Director Henrietta Fore’s remarks at a press conference on new updated guidance on school-related public health measures in the context of COVID-19, UNICEF (September 2020)
4 The Impact of The COVID-19 Pandemic on Education Financing, World Bank (May 2020)
5 Learning and Earning Losses From COVID-19 School Closures in Developing Asia, ADB (April 2021)

                                                    

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 19 ก.ค. 2021

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ