SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 พฤษภาคม 2013

การวางแผนมรดก... เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า.. เมื่อชีวิตได้เดินมาสู่ระยะที่ทุกๆ อย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณมีฐานะทางการเงินที่ดี และชีวิตครอบครัวที่มั่นคง คุณจะส่งต่อทรัพย์สินที่คุณมีให้แก่คนที่คุณรักอย่างไรเมื่อคุณได้จากพวกเขาเหล่านั้นไปแล้ว? ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดจะส่งต่อทรัพย์สินให้แก่ทายาท คุณควรทำการวางแผนจัดการมรดก เพื่อครอบครัวของคุณจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการส่งต่อทรัพย์สิน ซึ่งคำถามของคุณตอนนี้คงหนีไม่พ้น.. แล้วการวางแผนมรดกมีประโยชน์อย่างไร? และ ขั้นตอนการวางแผนมรดกมีอะไรบ้าง?

ผู้เขียน: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)

 477529807-s.jpg

คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า.. เมื่อชีวิตได้เดินมาสู่ระยะที่ทุกๆ อย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณมีฐานะทางการเงินที่ดี และชีวิตครอบครัวที่มั่นคง คุณจะส่งต่อทรัพย์สินที่คุณมีให้แก่คนที่คุณรักอย่างไรเมื่อคุณได้จากพวกเขาเหล่านั้นไปแล้ว? ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดจะส่งต่อทรัพย์สินให้แก่ทายาท คุณควรทำการวางแผนจัดการมรดก เพื่อครอบครัวของคุณจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการส่งต่อทรัพย์สิน ซึ่งคำถามของคุณตอนนี้คงหนีไม่พ้น.. แล้วการวางแผนมรดกมีประโยชน์อย่างไร? และ ขั้นตอนการวางแผนมรดกมีอะไรบ้าง?

..แล้วอะไรคือประโยชน์ของการวางแผนมรดก ?

          ประโยชน์อย่างแรกของการวางแผนมรดกคือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินสามารถส่งต่อทรัพย์สินให้แก่ทายาทได้อย่างครบถ้วนเพราะเจ้าของทรัพย์สินย่อมเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าตนมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ยกตัวอย่างในกรณีของเศรษฐีที่มีทรัพย์สินอยู่มากมาย ได้เกิดล้มป่วยและจากไปอย่างกระทันหันโดยที่ไม่ได้ทำการวางแผนมรดกและทำพินัยกรรมไว้ก่อน เมื่อลูกๆ ของเศรษฐีคนนั้นทำการแบ่งมรดกกัน พวกเขาอาจจะไม่ทราบว่าบิดามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทำให้มีทรัพย์สินบางส่วนสูญหายและไม่อยู่ในกระบวนการจัดสรรมรดก และทำให้ไม่ถึงมือของทายาทในที่สุด ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเศรษฐีคนนั้นทำการวางแผนมรดกและทำการตรวจสอบว่าตนมีทรัพย์สินอะไรบ้างล่วงหน้า

ประโยชน์อย่างที่สองคือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินสามารถกำหนดได้ว่าผู้ใดจะได้รับมรดกและจะได้รับทรัพย์สินประเภทใด โดยผ่านวิธีการเขียนพินัยกรรม ยกตัวอย่างเช่น นายส้มซึ่งเป็นบุตรนอกสมรสของนายแดงจะไม่ได้มรดกเลยตามกฎหมาย ถ้านายแดงมิได้เขียนพินัยกรรมเอาไว้ และไม่ได้แสดงพฤติกรรมว่าเป็นบิดาของนายส้ม เช่น การให้ใช้นามสกุล และ การแจ้งในสูติบัตร เป็นต้น

นอกจากนั้นการวางแผนจัดการมรดกจะช่วยลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งในการแบ่งมรดกระหว่างทายาท ซึ่งอาจตามมาด้วยคดีความในชั้นศาล ซึ่งจะทำให้เสียความสัมพันธ์ในครอบครัว เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย

ในต่างประเทศประโยชน์ของการวางแผนมรดกค่อนข้างที่จะชัดเจนในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษี แต่เดิมประเทศไทยมีการเก็บภาษีมรดกแต่ได้ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2487 โดยในปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีมรดก ทำให้การวางแผนมรดกยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางภาษี ยกตัวอย่างเช่น การที่บุพการียกดินให้บุตร ทั้งในกรณีที่บุพการียังมีชีวิตอยู่และการให้เป็นมรดกเมื่อบุพการีเสียชีวิตแล้วจะไม่มีการเสียภาษี แต่จะเสียค่าธรรมเนียมเป็น 0.5% ของราคาประเมินเท่ากันทั้งสองกรณี ทั้งนี้ในอนาคตหากประเทศไทยมีเก็บภาษีมรดก การวางแผนมรดกจะทำให้เกิดประโยชน์ในการประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

..แล้วขั้นตอนการวางแผนมรดกมีอะไรบ้าง ?

  • 1. รวบรวมทรัพย์สินกองมรดก

สิ่งแรกที่ควรทำคือการรวบรวมรายการทรัพย์สินเพราะจะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมทั้งหมดว่าคุณมีทรัพย์สินอะไรบ้าง และแต่ละรายการมีมูลค่าเท่าไร ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการวางแผนว่าจะทำการบริหารทรัพย์สินเหล่านั้นอย่างไร และเป็นการง่ายต่อผู้จัดการมรดกของคุณที่จะต้องทำบัญชีทรัพย์สินมรดก อย่างไรก็ตามสิ่งที่หลายๆ คนอาจลืมนึกถึงคือ การรวบรวมบัญชีหนี้สิน ซึ่งก็จัดเป็นมรดกเช่นเดียวกับทรัพย์สิน โดยทายาทจะมีหน้าที่ชำระหนี้มรดกให้แก่ผู้เสียชีวิต แต่ให้จ่ายหนี้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับจากผู้เสียชีวิต

ผู้วางแผนมรดกควรทำการจำแนกว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสและสินส่วนตัว เพราะเมื่อถึงเวลาที่ท่านได้จากโลกนี้ไปสินสมรสระหว่างท่านและคู่สมรสจะถูกแบ่งเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน คือ ส่วนที่ท่านจะได้ และส่วนของคู่สมรส โดยที่ส่วนที่จะตกเป็นมรดกจะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวบวกกับสินสมรสส่วนของท่านเท่านั้น  ทั้งนี้สินสมรสคือทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหาเลี้ยงชีพระหว่างการสมรส ส่วนมรดกที่ได้รับมาแม้ว่าจะได้หลังจากสมรสแล้วก็ถือเป็นสินส่วนตัว

  • 2. เลือกผู้รับมรดก

การเลือกผู้รับมรดกนั้นก็เหมือนกับการบริหารทรัพย์สินซึ่งหวังผลตอบแทนสูงสุดซึ่งไม่มีสูตรตายตัว แต่หนึ่งในสิ่งที่เจ้าของมรดกควรคำนึงถึงคือ ความสามารถในการบริหารทรัพย์สินของทายาท ยกตัวอย่างเช่น  บุตรคนโตเป็นคนบริหารเงินเก่ง ส่วนคนเล็กเป็นคนที่มีหัวทางธุรกิจ ดังนั้นการให้เงินในบัญชีธนาคารของท่านให้แก่บุตรคนโต และการให้ที่ดินในย่านหัวเมืองแก่บุตรคนเล็กก็คงเป็นเรื่องที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ให้มรดกควรคำนึงถึงความต้องการของผู้รับ เช่น ทายาทแต่ละคนย่อมมีความต้องการใช้ทรัพย์สินไม่เท่ากัน บางคนอาจมีฐานะดีกว่าอีกคน ดังนั้นการให้ทรัพย์สินแก่ทายาทที่มีความเดือดร้อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึงถึง และอีกส่วนที่สำคัญคือ ความพร้อมของผู้รับมรดก ยกตัวอย่างเช่น ผู้มอบมรดกมีบุตรอายุ 18 ปี ซึ่งการยกทรัพย์สินจำนวนมากๆ ให้ในเวลานั้นอาจทำให้บุตรนำไปใช้จ่ายอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งผู้มอบมรดกสามารถเขียนพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้เป็นระยะๆ ให้แก่บุตรคนนั้นได้ เหนืออื่นใดสิ่งสุดท้ายที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความยุติธรรม ซึ่งการขาดความยุติธรรมจะเป็นต้นเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งของทายาท

หากผู้เสียชีวิตไม่ได้มีการเขียนพินัยกรรม ผู้ที่ได้จะได้รับมรดกคือทายาทตามลำดับขั้น คือ 1.ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน และลื้อ) 2.บิดามารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4.พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5.ปู่ ย่า ตา ยาย 6.ลุง ป้า น้า อา แต่สิทธิ์ของการรับมรดกของผู้สืบสันดานและบิดามารดาของผู้เสียชีวิตจะไม่ตัดกันเอง และคู่สมรสจะมีส่วนแบ่งกับทายาททุกลำดับขั้น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่ผู้เสียชีวิตมีภรรยาตามกฎหมาย บุตรหนึ่งคน หลาน 2 คน และบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ ภรรยา บุตร บิดา และมารดาของผู้เสียชีวิตจะได้รับส่วนแบ่งจากมรดกของผู้เสียชีวิตเท่าๆ กัน โดยถ้าผู้เสียชีวิตมีสินสมรสอยู่ 800,000 บาท ภรรยาจะได้ 500,000 บาท (400,000 บาทจากการแบ่งสินสมรส และ 100,000 บาทจากมรดกของผู้เสียชีวิต) บุตรจะได้ 100,000 บาท และ บิดามารดา จะได้คนละ 100,000 บาท ทั้งนี้เมื่อบุตรยังมีชีวิตอยู่ หลานจะไม่ได้ส่วนแบ่งมรดก และทายาทลำดับหลังจากบิดามารดา ก็จะไม่ได้รับมรดกเช่นกัน

  • 3. เขียนพินัยกรรม

หลายๆ คนอาจมองว่าการเขียนพินัยกรรมเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วการเขียนพินัยกรรมสามารถทำได้โดยตัวท่านเองโดยไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความเลยด้วยซ้ำ หากผู้เขียนพินัยกรรมได้ทำการศึกษาวิธีการเขียนพินัยกรรมอย่างละเอียด โดยเนื้อหาในพินัยกรรมผู้เขียนสามารถระบุ ผู้รับมรดก (จะเป็นทายาทโดยธรรมหรือไม่เป็นก็ได้) ชนิดทรัพย์สินที่ผู้รับมรดกจะได้ ช่วงเวลาที่จะให้โอนทรัพย์สินให้ทายาท หน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การยกหน้าที่การดูแลบุตรที่กำลังเล็กให้แก่น้องชายของตน และสิ่งสุดท้ายคือผู้เขียนพินัยกรรมสามารถระบุว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการมรดกได้ ทั้งนี้ผู้จัดการมรดกจะเป็นใครก็ได้และไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท โดยถ้าไม่ได้มีการระบุในพินัยกรรมทายาทของผู้เสียชีวิตจะต้องทำเรื่องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล ผู้จัดการมรดกจะมีหน้าที่ทำการแบ่งทรัพย์สินให้แก่ทายาทตามที่ได้ระบุตามพินัยกรรม ซึ่งถ้าไม่มีการเขียนพินัยกรรมเกิดขึ้นผู้จัดการมรดกต้องแบ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นผู้รายงานความเป็นไปต่างๆ ของการแบ่งมรดกให้แก่ทายาททราบ

โดยทั่วไปแล้วพินัยกรรมที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกันคือพินัยกรรมแบบธรรมดา และ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ข้อแตกต่างหลักๆ สำหรับพินัยกรรมสองแบบนี้คือ พินัยกรรมแบบธรรมดาจะต้องมีพยาน โดยจะเขียนด้วยลายมือหรือจะพิมพ์ก็ได้ ส่วนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้นไม่จำเป็นต้องมีพยานก็ได้ แต่ต้องเขียนด้วยลายมือทั้งฉบับ ทั้งนี้พินัยกรรมทั้งสองชนิดจะต้องมีการลงลายมือผู้เขียนพินัยกรรม วัน เดือน ปี และ สถานที่เขียนพินัยกรรมด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้เขียนพินัยกรรมต้องลงนามรับรองว่าตัวเองเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะปกติและไม่เป็นผู้วิกลจริต

ด้วยประโยชน์และขั้นตอนของการวางแผนมรดกทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าขั้นตอนของการวางแผนมรดกไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่ทุกคนคิด และการวางแผนมรดกจะเป็นประโยชน์ต่อคนในครอบครัวของท่านในอนาคตเมื่อท่านได้จากพวกเขาไปแล้ว

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ