SHARE

สำรวจความพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย

อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ที่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกมาใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG

Screen-Shot-2564-07-12-at-10.22.04.png

 

อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ที่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกมาใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภาครัฐจึงจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park หรือ EECd) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยและผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในเขตพื้นที่ EEC

อย่างไรก็ดี การพัฒนาและการดึงดูดการลงทุนต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยอาจยังมีจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไข ซึ่งอาจประเมินได้จากรายงานของ UNCTAD Technology and Innovation Report 2021 ที่มีการสำรวจความพร้อมในการรับและพัฒนาอุตสาหกรรมทันสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือ Frontier Technology (ประกอบไปด้วย 11 ประเภท ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT), Big data, Blockchain, 5G, การพิมพ์ภาพ 3 มิติ, หุ่นยนต์, โดรน, gene editing, นาโนเทคโนโลยี และ Solar photovoltaic) ของ 158 ประเทศ โดยมีตัวชี้วัด 5 ด้าน คือ (1)  ICT deployment ประเมินจากสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากร และค่าเฉลี่ยความเร็วในการดาวน์โหลด (2) ทักษะในการปรับใช้ (Skills) ซึ่งวิเคราะห์จากความสำเร็จทางการศึกษาของประชากร และระดับการจ้างแรงงานทักษะสูง (High-skill) (3) การวิจัยและพัฒนา (R&D) ประเมินจากจำนวนสิ่งพิมพ์และสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับ Frontier technology ทั้ง 11 ประเภท (4) ความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการปรับใช้ดิจิทัล (Industry activity) วิเคราะห์จากข้อมูลการผลิตและส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล และ (5) การเงิน (Finance) ที่วิเคราะห์ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน โดยประเมินจากสัดส่วนสินเชื่อในประเทศที่ให้กับภาคเอกชนต่อ GDP

ผลปรากฏว่าคะแนนความพร้อมของไทยด้านการรับและพัฒนา Frontier Technology อยู่อันดับที่ 46 จาก 158 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ไม่แย่ แต่หากเทียบกับประเทศใกล้เคียงกันในกลุ่มอาเซียน พบว่าไทยยังเป็นรองหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 5) มาเลเซีย (อันดับที่ 31) และฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 44) โดยด้านที่เป็นจุดแข็งของไทยคือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน (Finance) ที่มีมากกว่าประเทศอื่น แต่ด้านที่ไทยยังมีอันดับต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของไทยคือ ด้านความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการปรับใช้ดิจิทัลหรือ Industry activity (อันดับที่ 34) และด้านทักษะในการปรับใช้ดิจิทัลหรือ skills (อันดับที่ 91) ขณะที่ด้าน ICT Deployment (อันดับที่ 57) ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก

Screen-Shot-2564-07-12-at-11.10.36.png

ทั้งนี้ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันหาทางแก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนเหล่านี้ โดยในส่วนของทักษะ รัฐควรส่งเสริมการเพิ่มทักษะดิจิทัลต่อนักศึกษาที่จะกลายเป็นแรงงานในอนาคต รวมถึงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานปัจจุบันผ่านการเรียนรู้ทั้งในและนอกที่ทำงานเพื่อสร้างทักษะขั้นสูงให้พร้อมต่อการรับเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนา ICT deployment โดยควรเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตในภาพรวมด้วย ขณะที่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐควรสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจต่อการลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการด้านดิจิทัล เพื่อสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลกับธุรกิจเป็นการทั่วไป โดยหากไทยสามารถปรับปรุงและพัฒนาจุดอ่อนเหล่านี้ได้รวดเร็ว ก็จะสามารถดึงดูดนักลงทุนระดับโลกให้เข้ามาลงทุนด้านดิจิทัลในเขตพื้นที่ EEC ได้ตามที่คาดหวัง 

                                         

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 12 กรกฏาคม 2021

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ