SHARE

เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออกไทย ส่วนอัตราเงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวขึ้นนั้น คาดว่าจะปรับชะลอลงในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวได้แข็งแกร่งแต่ไม่เท่าเทียม โดยยังคงมีความแตกต่างกันในรายประเทศและภาคส่วนขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนรวมทั้งขนาดและประสิทธิภ


LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG


shutterstock_712110304.jpg

 
· เศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวได้แข็งแกร่งแต่ไม่เท่าเทียม โดยยังคงมีความแตกต่างกันในรายประเทศและภาคส่วนขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนรวมทั้งขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและจีนจะฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) อื่น ๆ

· ภาคการผลิตโลกในภาพรวมฟื้นตัวได้ดี โดยได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ (pent-up demand) และเงินออมส่วนเกิน (excess savings) ที่ปรับสูงขึ้นหลังจากการปิดเมืองมานาน อีกทั้ง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ปรับดีขึ้นตามความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน รวมถึงการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงวิกฤติ COVID-19 อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อในบางกลุ่มประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตในเดือนพฤษภาคมเริ่มขยายตัวชะลอลงบ้าง จึงจำเป็นต้องจับตามองสัญญาณของ supply chain disruption ต่อภาคการผลิตในระยะต่อไป

· นอกจากนี้ ดัชนี PMI โลกรายอุตสาหกรรมยังบ่งชี้ว่า กลุ่มสินค้าคงทนโดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มสินค้าอื่น ตามอุปสงค์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เพิ่มขึ้นภายใต้ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น อีกทั้ง การบริการที่ยังมีจำกัด ทำให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าคงทนมากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาความกังวลต่อโรคระบาดทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและมีความต้องการสินค้าเพื่อการทำงานที่บ้าน (work-from-home) และการเรียนออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้สินค้ากลุ่มเหล่านี้ฟื้นตัวได้ดีกว่าสินค้ากลุ่มอื่น ๆ 

· สำหรับภาคบริการในภาพรวมยังคงฟื้นตัวช้ากว่าจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่า ภาคบริการจะมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จากการแจกจ่ายวัคซีนที่มีความคืบหน้าทำให้มีการเปิดเมืองเป็นวงกว้างมากขึ้นโดยเริ่มจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก่อน

· การกลับมาระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ไม่ส่งผลต่อแนวโน้มการค้าโลกโดยรวมนัก โดยการส่งออกของหลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทยยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งนี้พบว่าภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีนและสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น สำหรับภาคการส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมเช่นกัน โดยล่าสุด EIC ปรับประมาณการขึ้นมาอยู่ที่ 15.0%YOY ในปี 2021 จากประมาณการเดิมที่ 8.6%YOY

· ในช่วงที่ผ่านมาอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่อุปทานบางกลุ่มยังคงมีข้อจำกัดในการผลิต ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นเร็ว นอกจากนี้ การขยายตัวต่อเนื่องของตลาดที่อยู่อาศัยโลกในช่วงไตรมาสที่ผ่านมายังส่งผลให้ราคาบ้านและค่าเช่าที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานในบางประเทศก็ปรับตึงตัวขึ้นเนื่องจากกำลังแรงงานบางส่วนยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเต็มที่ ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูง ด้วยเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศจึงปรับสูงขึ้นเร็ว

· ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าบางชนิด เช่น medical supply จะทยอยลดลงตามการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า ประกอบกับการขยายตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางกลุ่มอาจปรับชะลอลงหลังจากอุปทานในระยะถัดไปจะเริ่มปรับขึ้นตามราคา ด้านแรงกดดันค่าจ้างจะลดลงหลังแรงงานกลับเข้าตลาดมากขึ้น ขณะที่ Base Effect จากฐานที่ต่ำก็จะเริ่มลดลงในช่วงปลายปี 2021

· อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเร็วในหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางหลักได้เข้าดูแลภาวะการเงินผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ EIC คาดว่า ธนาคารกลางหลักจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีหน้า อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสที่ Fed จะส่งสัญญาณชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (ลดการทำ QE) และเริ่มลดปริมาณการเข้าซื้อในช่วงต้นปีหน้า ส่วน ECB มีโอกาสที่จะปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านโครงการ PEPP ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้


Button-01-(1).jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ