SHARE
SCB EIC ARTICLE
25 กันยายน 2013

ถอดรหัส “Food Valley Model” … จากเนเธอร์แลนด์สู่ไทยแลนด์

ภายในปี 2050 หรืออีกราว 40 ปีต่อจากนี้ ประชากรทั่วโลกจะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 9,600 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึงราว 2,400 ล้านคนจากปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวย่อมหมายถึงความต้องการบริโภคอาหารที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ขณะเดียวกันความสามารถในการผลิตอาหารของโลกใบนี้กลับกำลังลดน้อยถอยลงทุกขณะ ทั้งจากพื้นที่ทำการเกษตรที่ถูกคุมคามจากความเจริญของภาวะเศรษฐกิจ สภาพดินฟ้าอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากจะคาดเดา ประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร” หรือ food security จึงได้กลายเป็น agenda เร่งด่วนของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก … แล้วไทยเราในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก จะต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสและรับมือกับวิกฤติการณ์ดังกล่าวอย่างไร?

ผู้เขียน: โชติกา ชุ่มมี

 84522819.jpg

ภายในปี 2050 หรืออีกราว 40 ปีต่อจากนี้ ประชากรทั่วโลกจะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 9 ,600 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึงราว 2,400 ล้านคนจากปัจจุบัน  ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวย่อมหมายถึงความต้องการบริโภคอาหารที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ขณะเดียวกันความสามารถในการผลิตอาหารของโลกใบนี้กลับกำลังลดน้อยถอยลงทุกขณะ ทั้งจากพื้นที่ทำการเกษตรที่ถูกคุมคามจากความเจริญของภาวะเศรษฐกิจ สภาพดินฟ้าอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากจะคาดเดา ประเด็นเรื่อง "ความมั่นคงด้านอาหาร" หรือ food security จึงได้กลายเป็น agenda เร่งด่วนของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ... แล้วไทยเราในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก จะต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสและรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างไร?   

จะว่าไปแล้ว รัฐบาลไทยก็ได้มีการวางนโยบายและ roadmap ด้าน food security เพื่อผลักดันให้ประเทศของเรากลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตอาหาร และครัวของโลก หรือ Kitchen of the World มาระยะหนึ่งแล้ว ผ่านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้มูลค่าการส่งออกอาหารของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอาหารไทยติดอันดับ Top-5 อาหารยอดนิยมของนักชิมจากทั่วโลก แต่นั่นอาจจะยังไม่เพียงพอในการสานฝันเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโลกและครัวของโลกอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ ... และนี่จึงกลายเป็นที่มาของแนวคิดในการผลักดันให้เกิดโครงการ Food Valley ขึ้นในไทย

คำถามแรกที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในใจตอนนี้ คือ แล้ว Food Valley ที่ว่านี้คืออะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร?  ดิฉันเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า Food Valley กันบ้างแล้ว ซึ่งถ้าจะพูดให้เข้าใจแบบง่ายๆ "Food Valley" หรือ โครงการหุบเขาอาหาร ก็คือ แนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแบบครบวงจรนั่นเอง  ซึ่งโมเดลที่ว่านี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงที่เค้ากำลังประสบกับปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงได้ผุดแนวคิดนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์อาหารให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อผลักดันให้องค์ความรู้ และผลงานวิจัยทางวิชาการต่างๆ ได้รับการพัฒนาและต่อยอดให้เห็นเป็นรูปธรรม สามารถผลักดันให้ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้จริงอย่างรวดเร็ว

คงไม่แปลกถ้าจะบอกว่า แนวคิดของโครงการ Food Valley เป็นการเดินตามรอยความสำเร็จของ Silicon Valley ในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นโมเดลต้นแบบของเมืองแห่งอนาคตที่มีความทันสมัยด้าน IT และเป็นแหล่งรวมที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายบริษัท รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากโครงการ Food Valley ที่เมือง Wageningen ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นที่ตั้งของบริษัทด้านอาหารชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 70 บริษัท ศูนย์วิจัยกว่า 20 แห่ง สถาบันการศึกษาจำนวนมาก รวมถึงมหาวิทยาลัย Wageningen ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีการเกษตร นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ผลิตเครื่องจักรกลสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหารมากถึงกว่า 200 บริษัท ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งสิ้น
 

ตัวอย่างในการต่อยอดองค์ความรู้และงานวิจัยภายใน Food Valley แห่งนี้ ที่นำไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาคุณภาพและรสชาติผลิตภัณฑ์ซอสถั่วเหลืองของบริษัท Kikkoman จากญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถผลิตซอสถั่วเหลืองให้ถูกปากชาวยุโรปและขายได้ดีมากขึ้น หรือแม้แต่บริษัท Heinz ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอสมะเขือเทศชั้นนำของโลกก็ได้มีการตั้งบริษัทขึ้นที่นี่ด้วยเช่นกัน โดยได้มีการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยลดความสูญเสีย (waste) ในระหว่างกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด โดยการวิจัยเพื่อค้นหาสายพันธุ์มะเขือเทศที่สามารถให้ผลผลิตที่มีขนาดเท่ากันทุกลูกและพอดีกับเครื่องบดของโรงงานซึ่งรองรับมะเขือเทศเพียงขนาดเดียว เพื่อลดความสูญเสียทั้งด้านเวลาและต้นทุนในการคัดมะเขือเทศที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าเครื่องบดออก

นอกจากนี้ ที่ Food Valley แห่งนี้ ยังเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ "ระดับต้นน้ำ" เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไข่ไก่ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยยับยั้งโรคตาบางชนิดในกลุ่มผู้สูงอายุ การผลิตนมซึ่งมีองค์ประกอบที่เหมาะสมกับการนำไปผลิตเป็นเนยแข็งโดยเฉพาะ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารที่เป็นได้มากกว่าที่เราคาดคิด

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และยังเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน (private R&D) มากเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มสหภาพยุโรปอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากถึงกว่าปีละ 48 พันล้านยูโรแล้ว ยังกลายเป็นสนามแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ ซึ่ง success story ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียได้เริ่มมีการจัดทำโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน จีน เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ไทยเอง 

ถามว่าแล้วปัจจุบันโครงการ Thailand Food Valley คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว? อาจกล่าวได้ว่าโครงการหุบเขาอาหารของไทย หรือ Thailand Food Valley กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะภาครัฐเพิ่งจะมีการ kick-off โครงการนี้ในปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องไว้ 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหน่วยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะเน้นไปที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้  ทั้งนี้ แม้ว่า Thailand Food Valley จะเป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นคล้อยหลังนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกอยู่หลายปีก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีซึ่งควรสานต่ออย่างจริงจังเพราะอย่างน้อยที่สุด มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา

ต้องไม่ลืมว่า หัวใจสำคัญและกุญแจสู่ความสำเร็จของโมเดลนี้คือ ความเชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา หรือ "golden triangle" ซึ่งจะเอื้อให้เกิด synergy impact ที่มีพลัง แม้ว่าการนำร่องโดยภาครัฐจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็น แต่หากขาดการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และภาควิชาการ  โครงการ Food Valley ของไทยก็คงจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายนัก ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงอาหารจะต้องมานั่งจับเข่าคุยกันอย่างจริงจัง เพื่อแปรเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารของไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าเข้าสู่ยุคไฮเทคที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมและองค์ความรู้อย่างแท้จริง รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ภาคเอกชนไทยเพื่อเปิดแนวรุกบุกตลาด AEC ได้อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

  ... เมื่อเวลานั้นมาถึง เชื่อว่าความฝันของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตอาหาร และครัวของโลกก็คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ