SHARE
SCB EIC BRIEF
24 พฤษภาคม 2021

Pet food: อาหารสัตว์เลี้ยง ดาวรุ่งส่งออกไทยยุค COVID-19

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างมากในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยการส่งออกไทยในปี 2020 หดตัวสูงถึง -6.0%

LINE_sharebutton<sup>1</sup>-(1)-(1).JPG

GettyImages-952059830-(1).jpg

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างมากในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยการส่งออกไทยในปี 2020 หดตัวสูงถึง -6.0% อย่างไรก็ดี การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยกลับเติบโตได้อย่างโดดเด่นตลอดทั้งปี และส่งผลให้ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลกในปี 20201 โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุที่การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต รวมถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้า

ภาพรวมการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในช่วงที่ผ่านมา?

ในปี 2020 การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตัวถึง 18.4% ต่อเนื่องจากปี 2019 ที่ขยายตัวได้ 4.2% โดยนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็นต้นมา การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวในระดับเลขสองหลักติดต่อกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโตถึง 20.7%YOY) จากรูปที่ 1 แม้ว่าการส่งออกสินค้าประเภทอื่นจะลดลงโดยเฉพาะในช่วงที่หลายประเทศมีการปิดเมืองเข้มงวดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงกลับไม่ได้รับผลกระทบด้านลบ ซ้ำยังเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงหลังอีกด้วย

Picture1.png



หากพิจารณาด้านตลาดส่งออก พบว่าตลาดส่งออกสำคัญของอาหารสัตว์เลี้ยงไทยประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน 5 และสหภาพยุโรป 15 (โดยเฉพาะอิตาลี และอังกฤษ) ตามลำดับ (รูปที่ 2) ซึ่งจะเห็นว่าการส่งออกไปในทุกตลาดสำคัญขยายตัวในระดับสูงกว่าปี 2019 อย่างชัดเจน ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยส่งออกในตลาดหลักนั้นเป็นอาหารสุนัขและแมว (คิดเป็นราว 83% ของการส่งออกอาหารสัตว์ทั้งหมด) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายอยู่แต่เดิมแล้ว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ที่มีการส่งออกอาหารสุนัขและแมวถึง 98% ของอาหารสัตว์เลี้ยงที่ส่งออกไปสหรัฐฯ

เหตุผลสนับสนุนการเติบโตของอาหารสัตว์เลี้ยงในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาด คืออะไร?

1) ผู้คนในหลายประเทศมีแนวโน้มเลี้ยงสัตว์มากขึ้นในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาด

EIC ได้ทำการศึกษาโดยใช้ Google trend เกี่ยวกับการซื้อและรับอุปการะสัตว์เลี้ยงของทั่วโลก พบว่าการค้นหาใน Google คำว่า ‘buy cat’ ‘adopt cat’ และ ‘buy dog’ ‘adopt dog’ เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่มีการใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวด (รูปที่ 3) แสดงถึงแนวโน้มการที่ผู้คนต้องการรับเลี้ยงสัตว์ในช่วงนี้มากกว่าในเวลาปกติ สอดคล้องกับงานศึกษาของ American Pet Products Association (APPA)2ว่าครัวเรือนสหรัฐฯ มีสัตว์เลี้ยงใหม่มากขึ้น (ราว 10% ในเดือนธ.ค. 20) ในขณะที่งานศึกษาขององค์กร People's Dispensary for Sick Animals (PDSA)3ของอังกฤษ มีการเปรียบเทียบจำนวนคนที่เลี้ยงสัตว์ในช่วงก่อน-หลังล็อกดาวน์ ซึ่งพบว่าคนอังกฤษที่มีสัตว์เลี้ยงใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน โดยเฉพาะสุนัขและแมว นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Euromonitor ยังชี้ว่าประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ก็มีสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (รูปที่ 4) อาทิ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย โดยงานศึกษาของ APPA และ PDSA ได้ผลใกล้เคียงกันว่าสาเหตุหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์ในช่วงล็อกดาวน์คือช่วยลดความเครียดจากการที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านได้ เช่นเดียวกับงานศึกษาของมหาวิทยาลัย Monash4ของออสเตรเลีย ที่ชี้ว่าการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุนัขช่วยป้องกันความเหงาและลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเจ้าของจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ร่วมกับสัตว์เลี้ยงในช่วงที่ต้องอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน

Picture2.png



2) ประชาชนในตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะไม่ลดการใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยง ตรงกันข้าม การใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงกลับเพิ่มขึ้นในช่วงกักตัว

งานศึกษาจากหลายแห่งชี้ว่าผู้คนในตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ไม่ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยงานศึกษาของ APPA พบว่าชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ (ราว 70% ของกลุ่มตัวอย่างเมื่อเฉลี่ย Survey ของ APPA ทั้ง 4 รอบ) ไม่ต้องการลดการใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารของสัตว์เลี้ยงแม้ว่าพวกเขาจะมีปัญหาทางด้านการเงิน เนื่องจากให้ความสำคัญกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงมาก (รูปที่ 5) และส่วนหนึ่งมีการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น (ราว 20% ของกลุ่มตัวอย่างเมื่อเฉลี่ย Survey ของ APPA ทั้ง 4 รอบ) โดยหากพิจารณาจากข้อมูลการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของสหรัฐฯ ในหมวดสัตว์เลี้ยง (รูปที่ 6) พบว่าการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2020 ซึ่งผลการศึกษานี้ค่อนข้างสอดคล้องกับรายงานของ PDSA ซึ่งพบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงในอังกฤษส่วนใหญ่ (ราว 91% ของกลุ่มตัวอย่าง) เห็นว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงไม่ควรได้รับผลกระทบจากสถานะทางการเงินของเจ้าของ โดยเจ้าของส่วนหนึ่งให้อาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้นนับตั้งแต่อังกฤษใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม 2020 (10% และ 17% ของเจ้าของสุนัขและแมวตามลำดับ) นอกจากนี้ 8% ของเจ้าของสุนัขพบว่าสุนัขน้ำหนักขึ้นในช่วงปิดเมือง หรือเทียบเท่าสุนัขในอังกฤษถึง 790,000 ตัว ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น แม้จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์โดยรวมจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ยอดขายสินค้าในหมวดสัตว์เลี้ยงในช่วงปี 2020 กลับเติบโตขึ้นมาก (รูปที่ 7) สะท้อนว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เจ้าของส่วนใหญ่มีแนวโน้มดูแลสัตว์เลี้ยงดีขึ้น มีการกักตุนอาหารสัตว์เลี้ยง (stockpiling) รวมถึงซื้ออาหารให้สัตว์เลี้ยงมากขึ้นอีกด้วย

Picture3.png


แนวโน้มของอาหารสัตว์เลี้ยงในระยะต่อไปเป็นอย่างไร?

อาหารสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง จากอานิสงส์ของเทรนด์ Pet Humanization5และการที่คน-สัตว์เลี้ยงใกล้ชิดกันมากขึ้นจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ค่านิยม Pet Humanization หรือเลี้ยงสัตว์เสมือนลูก เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง  ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะสรรหาอาหารคุณภาพดีและแปลกใหม่ให้แก่สัตว์เลี้ยงของตนเอง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีความสุขมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ Euromonitor ที่ชี้ว่าปริมาณการขายอาหารสัตว์เลี้ยง (Global dry dog and cat food) ประเภทพรีเมียม เติบโตถึง 24.2% ในช่วงปี 2014-2019 มากกว่าอาหารชนิดราคาปานกลาง (Mid-price) และแบบประหยัด (Economy) ที่เติบโต 14.2% และ 2.4% ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความสุขให้สัตว์เลี้ยงก็ได้รับอานิสงส์ด้วย เช่น การส่งออกของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงของไทยก็โตถึง 5.7% ในปี 2020

นอกจากนี้ การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยยังมีความได้เปรียบทางการค้าเนื่องจากมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักราว 54%[6] โดยปัจจุบัน 15 ประเทศจาก 18 ประเทศที่มี FTA กับไทย ไม่เก็บภาษีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู  ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักอื่น ๆ ของไทยหลายแห่งก็ยังมีศักยภาพเติบโตได้ เช่น สหรัฐฯ ซึ่งมียอดการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือตลาดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีกำลังซื้อสูง เช่น ญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงจึงควรปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันที่คำนึงถึงสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก  มีการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ และสร้างช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในตลาดหลักให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาการเติบโตของการส่งออกในระยะข้างหน้า

1ข้อมูลจาก Trademap
2The APPA COVID-19 Pulse Study: Pet Ownership During the Pandemic. (Dec 20)
3PDSA animal well-being report: 2020 (Feb 21)
4Puppy love in the time of Corona: Dog ownership protects against loneliness for those living alone during the COVID-19 lockdown, International Journal of Social Psychiatry, Monash University (July 20)
5การเลี้ยงสัตว์เสมือนลูก
6สัดส่วนของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของ 18 ประเทศที่มี FTA กับไทย ต่อการส่งออกไปทุกตลาดในปี 2020

                                           

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 24 พ.ค. 2021

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ