SHARE
SCB EIC BRIEF
10 พฤษภาคม 2021

เตรียมความพร้อมผู้ผลิตไทยสู่ยุค Net Zero

ปัญหาสภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ถูกยอมรับไปทั่วโลกว่าเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG

GettyImages-1287215394.jpg


ปัญหาสภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ถูกยอมรับไปทั่วโลกว่าเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ ทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทที่ให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายลดการปล่อย GHG มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยข้อมูลของ The Science Based Targets initiative ระบุว่า มีบริษัท 680 บริษัทมีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อย GHG และมี 400 บริษัทร่วมลงนามใน Business Ambition for 1.5°C commitment letter หรือเป็นการกำหนดเป้าหมายว่าจะลดการปล่อย GHG สุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission) ภายในปี 2050

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีลดการปล่อย GHG ที่ถูกพัฒนาจนต้นทุนในการนำไปใช้ถูกลงมากและพร้อมนำไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้วัตถุดิบที่ดีขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ศักยภาพของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการปล่อย GHG นั้น อาจแตกต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ ขึ้นอยู่กับลักษณะกิจการ กิจกรรมการผลิต และรูปแบบของพลังงานที่ใช้ในกระบวนการ ทำให้มีบางภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ หรือเทคโนโลยีที่ยังมีต้นทุนสูงขึ้น มาใช้เพื่อให้ถึงเป้า net zero ให้ได้

โดยบางบริษัทก็ตั้งเป้าไปถึงการลด GHG ที่กว้างกว่าการดำเนินการผลิตสินค้าและบริการของบริษัท โดยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อย GHG จากกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การขนส่งและจัดหาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ซึ่งจากผลการศึกษาของ Boston Consulting Group ระบุว่า ธุรกิจปลายน้ำที่ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลายมีการปล่อย GHG จากการขนส่งและจัดส่งวัตถุดิบสูงกว่า GHG ที่เกิดจากการดำเนินงานของตนเอง โดยธุรกิจ FMCG แฟชัน และอาหารมีการปล่อย GHG ในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบถึง 90%, 85% และ 83% ของปริมาณการปล่อย GHG ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ เป็นผลให้บริษัทที่ต้องการทำตามเป้าหมาย net zero มีการนำมาตรฐานหรือเงื่อนไขการคัดเลือกซัพพลายเออร์มาใช้ เช่น ซัพพลายเออร์ต้องกำหนดนโยบายบริษัทที่เกี่ยวกับพลังงานและการปล่อย GHG รวมถึงมีกระบวนการทำงานที่ลดขยะ เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางบริษัทที่มีแรงจูงใจในการลด GHG อย่างมาก เช่น Apple ก็กำลังยกระดับ net zero ให้เป็นระดับทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยประกาศว่า ซัพพลายเออร์ทั่วโลก 110 รายจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้ Apple และห่วงโซ่อุปทานมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ภายในปี 2030

เมื่อบริษัทในห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังมุ่งหน้าสู่การลดการปล่อย GHG จนนำไปสู่การมีเป้าหมาย net zero ร่วมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน บริษัทที่ทำตามเงื่อนไขของห่วงโซ่อุปทานได้ช้ากว่าบริษัทอื่นย่อมเสี่ยงที่จะหลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานนั้น บริษัทผู้ผลิตไทยก็ควรเตรียมความพร้อมเช่นกัน ด้วยการหา carbon footprint[1] เพื่อกำหนดกรณีฐานของตัวเอง และแผนการปรับลด GHG ที่เกิดจากการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน

ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่ยืดหยุ่น จะช่วยรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนอันเป็นตัวเลือกในการลด GHG ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง อีกทั้ง สามารถนำไปปรับใช้ได้เกือบทุกภาคอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ภาคเอกชนไทยลด GHG ได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจเริ่มจากพื้นที่ EEC ที่มีความพร้อมทั้งฝั่งระบบสายส่งสายจำหน่าย และฝั่งภาคเอกชน ด้วยการทดลองอนุญาตให้เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ของตนเองได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น ต้องขอใบ รง.4 เมื่อกำลังการผลิตเกิน 1MW หรือ เปิดเงื่อนไขทางกฎหมายให้การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากระบบโซลาร์บนหลังคาทำได้โดยระบบโซลาร์ไม่จำเป็นต้องอยู่บนหลังคาของผู้ซื้อไฟ เป็นต้น



[1] ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

                                                   

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 10 พฤษภาคม 2021

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ