SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
18 มีนาคม 2021

สถานการณ์การขาดแคลน ตู้คอนเทนเนอร์และผลกระทบ ต่อการส่งออกไทย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2020 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2021  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

31.jpg


โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่าการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ของแต่ละท่าเรือหลักมีแนวโน้มผ่อนคลายลง (รูปที่ 8) สะท้อนจาก container availability index ซึ่งเป็นดัชนีแสดงถึงสถานการณ์การขาดหรือเกินของตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละท่าเรือ บ่งชี้ว่าจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือสำคัญต่าง ๆ ของจีน สหรัฐฯ และยุโรป ในช่วงปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเกิดจากอานิสงส์ในช่วงตรุษจีนซึ่งบริษัทจีนได้ปิดทำการเป็นระยะเวลาประมาณสองอาทิตย์ โดยสายเรือต่าง ๆ ใช้เวลาในช่วงนี้ในการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับเอเชีย (Container Repositioning) และจัดตารางเดินเรือให้เข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง อย่างไรก็ดี คาดว่าการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะกลับมาอีกครั้งหลังช่วงตรุษจีน เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทในหลายประเทศโดยเฉพาะจีนกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ทั้งนี้คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะมีผลต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีเป็นอย่างน้อย ก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลาย

ในส่วนของอัตราค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ (freight) ที่สูงเป็นประวัติการณ์ คาดว่าจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ 1) ความต้องการส่งออกระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อบริษัทจีนเริ่มเปิดทำการหลังจากปิดในช่วงตรุษจีน โดยเฉพาะจากสินค้าที่ใช้
ในการ work from home และการเติมสินค้า (restocking) จากผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ โดย Maersk และ Hapag Lloyd เห็นตรงกันว่าสถานการณ์ด้านอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงจะไม่เข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาสแรกของปี และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่สอง และ 2) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีอยู่ ทำให้การดำเนินการที่ท่าเรือล่าช้าและปัญหาความแออัดที่ท่าเรือ (Port congestion) ยังมีสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งมีเรือคอนเทนเนอร์รอเข้าเทียบท่าอยู่จำนวนมาก โดยข้อมูลจาก Marine Exchange of Southern California ณ วันที่ 8 มีนาคม2021 มีจำนวนเรือที่ท่าเรือLos Angeles และ Long Beach ถึง 101 ลำ

ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและตัวแทนผู้ขนส่งสินค้า (freight forwarder) ของไทยทั้งด้านความยากในการหาตู้คอนเทนเนอร์และต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น โดยล่าสุดอัตราค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ และไทย-ยุโรป ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สินค้าส่งออกสำคัญของไทยซึ่งขนส่ง
ผ่านตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลักที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมาก ประกอบด้วย ชิ้นส่วนยานยนต์ (21.3%)1 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (16.9%) อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน (8.5%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (9%) ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และปลา (3.6%) และข้าว (2.1%) โดยสมาคมผู้ส่งออกทูน่าของไทยได้ระบุว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แม้จะมีอุปสงค์สินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปได้ทั้งหมด และยังต้องแข่งขันกับจีนและเวียดนามในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยบางประเภทที่ไม่ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากไม่ได้ขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ อาทิ เรือขนส่งสินค้าเทกอง (สำหรับขนส่งสินค้าที่เทรวมกันได้ เช่น ปุ๋ย น้ำตาล ถ่านหิน และธัญพืช) เรือน้ำมัน และเรือ roll-on/roll-off สำหรับขนส่งรถยนต์และรถบรรทุก เป็นต้น

30.jpg
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ