SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
18 มีนาคม 2021

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021 ณ ไตรมาส 1/2021

EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021 เป็นขยายตัวที่ 2.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.2% ตามการส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ประกอบกับเม็ดเงินจากภาครัฐ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2021  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

14.jpg

EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021 เป็นขยายตัวที่ 2.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.2% ตามการส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ประกอบกับเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีข้อจำกัดจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าและผลของ
แผลเป็นเศรษฐกิจ


ภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพียง 3.7 ล้านคน ซึ่งการฟื้นตัวที่ชัดเจนของภาคท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหลายประเทศมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว (Herd immunity) จากข้อมูลล่าสุด EIC ประเมินว่าประเทศพัฒนาแล้ว จะมีโอกาสได้ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าในปริมาณมากประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่พร้อมกว่าในการฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วกว่ากลับไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จึงทำให้การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่

ด้านการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาด โดยจากข้อมูลการส่งออกของหลายประเทศในช่วงหลัง พบว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ด้านการส่งออกของไทย พบว่ามูลค่าส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมมีระดับเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว ซึ่งนับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ดังนั้น จึงทำให้ EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2021 เป็นขยายตัวที่ 6.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.0%

ด้านเศรษฐกิจในประเทศ พบว่าการระบาดรอบใหม่ทำให้การฟื้นตัวสะดุดในระยะสั้น และก็จะมีผลซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อจำกัดหลักของการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยจากการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจ พบว่าการระบาดรอบใหม่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี ผลกระทบกลับมีน้อยกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงปีก่อนหน้า เพราะมาตรการควบคุมโรคมีลักษณะเฉพาะเจาะจง (targeted) มากขึ้น รวมถึงภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อรองรับการระบาด นอกจากนี้ ยังพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (bottomed out) ซึ่งสอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้ว่า ผลกระทบของการระบาดรอบใหม่จะมีประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้แม้ผลกระทบเศรษฐกิจจะมีไม่มากเท่ากับรอบก่อน แต่ก็นับเป็นการซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ กิจการบางประเภทที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องซ้ำเติมจนอาจทำให้ต้องปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานที่ซบเซาอยู่แล้ว โดยจากข้อมูลสะท้อนว่าชั่วโมงการทำงานรวมของแรงงานไทยลดลง สัดส่วนผู้ทำงานต่ำระดับ (ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้น และจำนวนคนทำงานอิสระเพิ่มขึ้น (มีระดับและความมั่นคงด้านรายได้ลดลง) ซึ่งประเด็นดังกล่าวบ่งชี้ว่า แรงงานไทยกำลังมีรายได้ลดลง ทำให้กำลังซื้อหายไปมาก จึงสร้างข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะถัดไป

เม็ดเงินจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการใช้จ่ายทั้งในส่วนของงบประมาณ และเม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของการเบิกจ่ายในงบประมาณ EIC คาดว่าภาครัฐจะมีการลงทุนด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 9.4%YOY ในปี 2021 จากการก่อสร้างทั่วไปตามงบประมาณและโครงการเมกะโปรเจกต์เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการให้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการล่าสุด ได้แก่ โครงการเราชนะ และ ม. 33 เรารักกัน ซึ่งมีวงเงินช่วยเหลือกว่า 2.5 แสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 40 ล้านคน นับเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่จะที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ ขณะที่ในระยะต่อไป EIC คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมซึ่งอาจเน้นด้านการลงทุนหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยภาครัฐยังมีเม็ดเงินที่จะพยุงเศรษฐกิจได้เพิ่มเติมอีกราว 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากเงินส่วนที่เหลือมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท ของพรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และจากงบกลางอีกราว 1.4 แสนล้านบาท

ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ประกอบไปด้วย 1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งทั้งในไทยและต่างประเทศ ตราบใดที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 2) การฉีดวัคซีนในไทยที่อาจล่าช้ากว่าแผน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว 3) ภาระหนี้เสียที่อาจสูงกว่าคาดซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพภาคการเงิน 4) ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 5) ความไม่สงบทางการเมืองที่อาจกลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการลงทุน และ 6) ความเสี่่ยงภูมิรัฐศาสตร์ โลกที่่อาจปะทุขึ้้นจากความขัดแย้งและการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังมีความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียและออสเตรเลียที่ต้องจับตามอง

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ