SHARE
SCB EIC ARTICLE
25 ธันวาคม 2013

ยุคทองของสายการบินต้นทุนต่ำ…กับรูปแบบธุรกิจที่ต้องจับตามอง

สายการบินต้นทุนต่ำหรือที่รู้จักกันในนาม Low Cost Carrier (LCC) ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคของการเชื่อมโยงไร้พรมแดนในปัจจุบัน โดยมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น แอร์เอเชียกรุ๊ปที่มีการเติบโตของรายได้ถึงเกือบ 15% ต่อปี หรือไลอ้อนแอร์ ที่มีการเปิดตัวเพื่อรุกตลาดอาเซียนอย่างหนัก ณ วันนี้มีสายการบิน LCC ในประเทศไทยรวมถึงที่บินเข้ามาในประเทศไทยรวม 25 สายการบิน เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับห้าปีที่แล้ว อะไรเป็นปัจจัยสำเร็จของธุรกิจ LCC และปัจจัยความสำเร็จนี้จะยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคตหรือไม่

ผู้เขียน: ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์

 102720941.jpg

สายการบินต้นทุนต่ำหรือที่รู้จักกันในนาม Low Cost Carrier (LCC) ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคของการเชื่อมโยงไร้พรมแดนในปัจจุบัน โดยมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น แอร์เอเชียกรุ๊ปที่มีการเติบโตของรายได้ถึงเกือบ 15% ต่อปี หรือไลอ้อนแอร์ ที่มีการเปิดตัวเพื่อรุกตลาดอาเซียนอย่างหนัก ณ วันนี้มีสายการบิน LCC ในประเทศไทยรวมถึงที่บินเข้ามาในประเทศไทยรวม 25 สายการบิน เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับห้าปีที่แล้ว  อะไรเป็นปัจจัยสำเร็จของธุรกิจ LCC และปัจจัยความสำเร็จนี้จะยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคตหรือไม่

88-1.png     

หากจะเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ LCC กับสายการบินพาณิชย์ที่บริการเต็มรูปแบบหรือ Full Service Carrier (FSC) ก็จะสามารถเทียบเคียง FSC ได้กับธุรกิจโรงแรม 5 ดาวที่ให้บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ในขณะที่ LCC เป็นโรงแรมแบบ 3 ดาว ที่ชูจุดขายด้านราคาที่ประหยัด โดยให้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางเป็นสำคัญ ทั้งนี้ผู้ที่มีการเดินทางเป็นประจำก็จะสามารถบอกเล่าถึงข้อแตกต่างในหลายๆ ด้านที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่ช่องทางการซื้อตั๋วเครื่องบินที่จำกัด และค่าบัตรโดยสารที่ไม่รวมค่าบริการอื่นๆ ที่มีการคิดเพิ่มเติม เช่นการโหลดกระเป๋า การเลือกที่นั่ง การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน  เป็นต้น

คำถามในใจผู้บริโภคคือราคาของสายการบิน LCC ถูกกว่าจริงหรือไม่เมื่อต้องมีการจ่ายค่าบริการต่างๆ เหล่านี้เพิ่ม คำตอบคือถูกกว่าโดยเฉลี่ยประมาณ 20-25%  จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อการบินหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งได้รวมค่าบริการด้านกระเป๋า และค่าธรรมเนียมอื่นๆ แล้ว ทั้งนี้โครงสร้างราคาเช่นนี้ ประกอบกับวิธีการกำหนดราคาที่ขึ้นเป็นขั้นบันไดตามอุปสงค์ของที่นั่งที่มากขึ้น เป็นการตอบโจทย์สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ต้องการความประหยัด โดยเฉพาะหากมีการซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนเดินทางล่วงหน้าเป็นเวลานาน และไม่ได้เลือกใช้บริการเสริมต่างๆ ในขณะเดียวกันสายการบิน LCC ก็สามารถสร้างรายได้เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการดำเนินการจากลูกค้าที่ ไม่ได้วางแผนการเดินทางล่วงหน้า และลูกค้าที่ยอมจ่ายเงินเพื่อความสะดวกเพิ่มเติม ส่งผลให้สายการบิน LCC สามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากยอดการเติบโตของผู้โดยสารที่เห็นได้ในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับรูปแบบธุรกิจของ LCC คือ การมีอัตรากำไรจากการดำเนินการที่ค่อนข้างสูงแม้ว่าจะมีการคิดราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกกว่า ยกตัวอย่างสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ แอร์เอเชียกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้นำของ LCC มีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBITDAR) ในปี 2012 ที่ 36% ในขณะที่สิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสายการบิน FSC ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สุดสายการบินหนึ่งมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 16%  จึงทำให้ธุรกิจ LCC แตกต่างจากธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับกลางและล่าง (Mass Market) โดยทั่วไป  ซึ่งขายสินค้าราคาถูก กำไรต่อหน่วยต่ำ แต่สร้างกำไรจากปริมาณการขายที่มากขึ้นเป็นหลัก  

ตัวแปรหลักที่ทำให้ LCC มีผลการดำเนินงานที่ดี ก็คือความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งแอร์เอเชียกรุ๊ปมีต้นทุนต่อการบินหนึ่งกิโลเมตรต่ำกว่าสิงคโปร์แอร์ไลน์กว่า 45% หากเจาะลึกถึงรูปแบบธุรกิจของ LCC จะพบว่ามีหลักการในการบริหารต้นทุนที่สำคัญสามด้านด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนแก่ธุรกิจอื่นที่ต้องการเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลางซึ่งจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

หนึ่งคือเรื่องของการลดต้นทุนในส่วนที่ผู้บริโภคยอมรับได้เมื่อสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง เช่นการไม่รับคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน  ไม่มีการสะสมไมล์  ใช้สนามบินรอง ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการลงจอดที่ถูกกว่า รวมถึงให้บริการจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น โดยไม่มีการต่อเครื่อง (Point-to-point) ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการแยกและขนส่งกระเป๋าสำหรับการต่อเครื่องบิน และลดความรับผิดชอบในกรณีที่ผู้โดยสารต่อเครื่องไม่ทัน หรือกรณีมีกระเป๋าที่คัดแยกผิดเส้นทาง

สองคือการวางรูปแบบธุรกิจให้เป็นมาตรฐานเดียว  ซึ่งจะลดความยุ่งยากในการดำเนินการเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ LCC จะใช้เครื่องบินเพียงขนาดเดียว ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการใช้งาน การซ่อมบำรุง รวมถึง การเก็บสำรองสินค้าคงคลังจำพวกอะไหล่ ไม่มีการแบ่งแยกที่นั่งชั้นธุรกิจและชั้นประหยัด  จึงไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการบริการที่มีความแตกต่างกันบนเครื่องบิน 

สามคือการสร้างระบบที่เน้นประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่นการลดเวลาจอดเครื่องให้สั้นลง และบินจำนวนครั้งต่อเครื่องมากขึ้น เปิดให้ซื้อตั๋วเครื่องบินจากอินเตอร์เนตเท่านั้น เพื่อจำกัดจำนวนพนักงาน และค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการให้พนักงานทำงานในหลายบทบาท เช่นให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินดูแลความสะอาดบนเครื่องบินด้วย 

รูปแบบธุรกิจที่เน้นการบริหารต้นทุนดังกล่าว ถือว่าเป็นจุดแข็งซึ่งเมื่อ LCC สามารถขยายธุรกิจเป็นสเกลขนาดใหญ่ได้ก็จะยิ่งมีการประหยัดต่อขนาด และทำให้เป็นการยากที่สายการบิน FSC จะลงมาแข่งขันด้านราคา โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่ปัจจุบันต้องตอบรับการบริการที่หลากหลายกว่าได้

อย่างไรก็ดี รูปแบบธุรกิจของ LCC ดังกล่าวทำให้ LCC สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ในอนาคตด้วยโลกแห่งการเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างประเทศ ทำให้ LCC ต้องเริ่มมองหาลู่ทางในการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดของนักธุรกิจที่ปัจจุบันครองอยู่โดยสายการบินเต็มรูปแบบ  แต่นั่นหมายถึงต้องมีการวางรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นและความหลากหลายในการบริการ รวมถึงการหาช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงลูกค้าองค์กรด้วยเช่นกัน  การเพิ่มบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานที่เน้นประสิทธิภาพสูงในปัจจุบัน  นับเป็นความท้าทายที่น่าจับตามอง หาก LCC สามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมได้ลงตัวก็จะหมายถึงตลาดอีกมูลค่ามหาศาล

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ