SHARE
OUTLOOK:JAPAN ECONOMY
15 มีนาคม 2021

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

ภาคการส่งออกและมาตรการกระตุ้นชุดใหม่จะเป็นแรงพยุงการฟื้นตัว

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2021  คลิกอ่านฉบับเต็ม 



เศรษฐกิจญี่ปุ่น : ภาคการส่งออกและมาตรการกระตุ้นชุดใหม่จะเป็นแรงพยุงการฟื้นตัว



เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ยังคงฟื้นตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง
โดยขยายตัว 12.7%QOQ SAAR หรือหดตัว -1.2%YOY หลังขยายตัว 22.7%QOQ SAAR หรือหดตัว -5.8%YOY ในไตรมาสที่ 3 (ทั้งปีหดตัว -4.8%YOY) ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเร่งตัวสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน นำไปสู่การระงับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิต สะท้อนได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ทุน (Capital Expenditure) ที่กลับมาขยายตัวถึง 19.4%QOQ SAAR และภาคการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นถึง 52.3%QOQ SAAR จากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศจีน

EIC คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น จะขยายตัวราว 3.0% ในปี 2021 โดยยังได้รับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ในไตรมาส 1 นับตั้งแต่ 8 มกราคม 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้งจนถึงอย่างน้อยต้นเดือนมีนาคม จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังคงอยู่ระดับสูง ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อภาคการบริโภค แต่ผลกระทบของมาตรการ Lockdown ครั้งนี้ จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงการระบาดระลอกแรก เนื่องจากมาตรการในรอบนี้ครอบคลุมเพียง 11 จังหวัด และกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมยังคงดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้ อุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีนจะเป็นแรงสนับสนุนต่อภาคการผลิตและการส่งออก สำหรับในระยะต่อไปนั้น การฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านการบริโภคกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะได้จัดหาวัคซีนไว้ได้เพียงพอสำหรับประชากรทั้งหมดแล้ว แต่ขั้นตอนการอนุมัติที่รัดกุมทำให้การฉีดวัคซีนเริ่มต้นได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งช้ากว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ โดยคาดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2021 นอกจากนี้ การจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่วางแผนไว้ในปีนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน แต่ทว่ายังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเลื่อนออกไปหรือจัดแข่งขันแบบถ่ายทอดสดเท่านั้นหากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น

นโยบายการคลังจะยังคงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2021 โดยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมขนาด 13% ของ GDP เพื่อควบคุมการระบาดและช่วยเหลือครัวเรือนหรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นอกจากนี้ มาตรการยังได้มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้ากับโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด อีกทั้ง ยังปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ SMEs (ซึ่งครอบคลุมถึง 70% ของการจ้างงาน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะถูกจัดขึ้นหลังสภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระลงในเดือนกันยายน 2021 อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของมาตรการชุดนี้

EIC คาดว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป โดยในการประชุมเดือนมกราคม BOJ ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ไว้ตามเดิม รวมทั้งยังคงนโยบายการเงินอื่น ๆ ทุกนโยบายไว้ ซึ่ง EIC คาดว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการผ่อนคลายไว้ต่อไป ตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ทั้งนี้ BOJ ส่งสัญญาณที่จะขยายกรอบควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ในรอบการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึง

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

เงินเยน ณ วันที่ 1 มีนาคม 2021 อ่อนค่าลง 3.3%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลกที่ทยอยปรับดีขึ้น หลังมีข่าวความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังวัคซีนสามารถแจกจ่ายได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการถือเงินเยนซึ่งมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง

การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2020 หดตัว -6.6%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-4.3%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-9.6%) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-4.2%) และเม็ดพลาสติก (-7.0%) ขณะที่สินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (30.1%) และเคมีภัณฑ์ (46.7%)

การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมายังไทยใน 9 เดือนแรกของปี 2020 หดตัว -44.5%YOY ทั้งนี้ในปี 2020 มีโครงการจากญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ทั้งหมด 210 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 64,357 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักที่มีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและการซ่อม ยานยนต์ (ซึ่งยังคงได้ประโยชน์จากกิจการรถยนต์ไฟฟ้า) ธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และธุรกิจการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจในกลุ่มเหล่านี้จะยังมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากนโยบายย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของญี่ปุ่น


07.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ