SHARE
OUTLOOK:U.S. ECONOMY
15 มีนาคม 2021

เศรษฐกิจสหรัฐฯ

วัคซีนและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ จะเป็นปัจจัยหลักของการฟื้นตัวในปี 2021

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส  1/2021  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลง ที่ 4.0%QOQ SAAR1 หรือหดตัว -2.5%YOY หลังจากกลับมาขยายตัว 33.1%QOQ SAAR ในไตรมาสที่ 3 (ทั้งปีหดตัว -3.5%YOY) โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้หลายรัฐต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทางและการห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร ซึ่งทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวชะลอลงเหลือ 2.5%QOQ SAAR (โดยอุตสาหกรรมร้านอาหารและโรงแรมกลับมาหดตัว -1.2%QOQ SAAR) จากที่ขยายตัวถึง 40.7%QOQ SAAR ในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดี การแจกจ่ายวัคซีนเริ่มส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงตั้งแต่ต้นปี 2021 นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงในเดือนธันวาคมยังสะท้อนให้เห็นว่า ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมระลอกใหม่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับมาตรการในระลอกแรก

EIC คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 4.2% ในปี 2021 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ โดยนอกจากมาตรการ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ออกมาในเดือนธันวาคม 2020 ที่เป็นการต่ออายุสวัสดิการต่าง ๆ ไปจนถึงอย่างน้อยมีนาคม 2021 แล้ว ประธานาธิบดีไบเดน ยังได้เสนอมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีกถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งชัยชนะของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งที่รัฐจอร์เจียเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้พรรคได้เสียงข้างมากทั้งสองสภา จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการออกนโยบายเพิ่มเติม ทั้งนี้ EIC คาดว่า พรรคเดโมแครตจะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมได้ที่ราว 1.5-1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในไตรมาส 1 ปี 2021 ซึ่งหากพรรคเดโมแครตเลือกใช้กระบวนการ Budget Reconciliation แทนการโหวตแบบปกติที่ต้องการเสียงสนับสนุนจากรีพับลิกันบางส่วนในวุฒิสภา (อ่านเพิ่มเติมใน Box : แนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ และนัยต่อเศรษฐกิจและภาวะการเงิน หน้าที่ 15) ก็อาจทำให้สามารถออกมาตรการขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้ แต่หากใช้การโหวตแบบปกติ จะทำให้มาตรการอาจมีขนาดเล็กลงกว่าที่เสนอไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2021 ยังจะได้รับแรงสนับสนุนจากอีกสองปัจจัยได้แก่ 1) รอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีน้อยกว่าที่คาด สะท้อนได้จากภาวะการจ้างงานที่ฟื้นตัวกลับมาแล้วกว่า 2 ใน 3 ของงานที่หายไป รวมทั้งจำนวนการปิดกิจการของภาคธุรกิจที่ยังคงลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2020 และ 2) การฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย โดยสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 และได้เร่งอัตราการฉีดขึ้นถึง 1.3 ล้านโดสต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้ราวไตรมาสที่ 2 ปี 2021 โดยทั้งสองปัจจัยนี้จะส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับมาขยายตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านต่ำ ได้แก่ การกลายพันธุ์ของไวรัสขนาดของมาตรการที่น้อยกว่าคาด และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

EIC คาดว่า Fed จะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 0-0.25% ไปจนถึงอย่างน้อยปี 2024 รวมทั้งยังคงอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE) ไว้ในปี 2021 โดย Fed ได้เน้นย้ำในการประชุม FOMC ล่าสุด (มกราคม) ว่าจะยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อไปจนกว่าอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ ณ ระดับเป้าหมาย



นัยต่อเศรษฐกิจไทย


ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2021 แข็งค่าจากต้นปีที 1.2%YTD เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งนโยบายการเงินของ Fed ที่ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ EIC มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2021 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30-31

การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2020 ขยายตัว 9.8%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (107.5%YOY) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (20.4%YOY) อาหารทะเลกระป๋อง (23.0%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (10.5%YOY) ขณะที่สินค้าส่งออกที่หดตัวได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม
(-17.3%YOY) และอัญมณีและเครื่องประดับ (-18.7%YOY)

การลงทุนทางตรงจากสหรัฐฯ มายังไทยใน 9 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 54.5% โดยอุตสาหกรรมที่เม็ดเงินลงทุนเพิ่มได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงินและประกัน นอกจากนี้ ใน ปี 2020 มีผู้ประกอบการจากสหรัฐฯ ยื่นขอการส่งเสริมจาก BOI อยู่ 31 โครงการคิดเป็นมูลค่า 24,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100%YOY


Infographic_US.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ