SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
15 มีนาคม 2021

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2021

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2021

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2021  คลิกอ่านฉบับเต็ม 




GettyImages-1222743196-(1).jpg


การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกปรับชะลอลงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง
โดยการระบาดรอบใหม่ในยุโรปเริ่มตั้งแต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในยุโรปจะเริ่มปรับลดลง แต่คาดว่ามาตรการปิดเมืองจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ อย่างไรก็ดี มาตรการปิดเมืองในรอบนี้ ยังไม่เข้มงวดเท่ากับมาตรการปิดเมืองในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 โดยในยุโรปนั้น สถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน โรงงาน และร้านค้าบางประเภท ยังสามารถเปิดทำการได้ ทำให้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจน่าจะมีน้อยกว่า นอกจากยุโรปแล้ว ประเทศที่เผชิญการระบาดรอบใหม่ยังรวมไปถึงประเทศที่เคยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีก่อนหน้านี้ เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่สหรัฐฯ ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีการแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับความเร็วในการฉีดวัคซีนซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การออกมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศมากหรือน้อย

1. การแจกจ่ายวัคซีนเพื่อให้ได้ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่ (race to herd immunity) จะเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากประเทศที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อนจะสามารถลดความเข้มข้นของการปิดเมืองได้ก่อนและได้มากกว่า และอาจทำให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรืออนุญาตให้ประชากรออกไปเที่ยวได้ก่อน โดยล่าสุดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งฉีดวัคซีนได้คืบหน้ามาก โดยเฉพาะอิสราเอล สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี การผลิตและจัดส่งวัคซีนที่ล่าช้าทำให้ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าแผน โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป โดย EIC คาดว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 - 3 ปี 2021 ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม EM จะมีความแตกต่างกันมาก เช่น จีนจะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสที่ 4/2021 ไทยจะได้ในไตรมาสที่ 1/2022 ในขณะที่กลุ่ม CLMV อาจต้องรอไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2022

2. การดําเนินนโยบายการเงินและการคลังของประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐ จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก EIC คาดว่าทางสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องในปีนี้ โดยสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเป็นประเทศแรกในช่วงต้นปี 2022 สำหรับนโยบายการคลังนั้น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และยังมีแนวโน้มขยายมาตรการเหล่านี้ต่อไป รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น ในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้บางประเทศโดยเฉพาะในกลุ่ม EM อาจเผชิญข้อจำกัดในการออกมาตรการเพิ่มเติม หลังหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมากและมีการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง

3. เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการบริการสูง และมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ จะมีอัตราการฟื้นตัวที่ช้ากว่า โดยภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ช้าที่สุด โดยเฉพาะหลังจากที่หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น สำหรับการเดินทางในประเทศที่ฟื้นตัวก่อนหน้านี้ก็ปรับชะลอลงเช่นกัน นอกจากนี้ ภาคบริการยังคงฟื้นตัวช้ากว่าภาคการผลิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองและนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม

จากปัจจัยข้างต้นทำให้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2021 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 5.5% โดยการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มชะลอลงจากการกลับมาระบาดของไวรัส ก่อนที่จะฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้การฟื้นตัวจะแตกต่างกันตามความเร็วในการฉีดวัคซีน และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากมีมาตรการขนาดใหญ่ออกมาเพิ่มเติม ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและ ASEAN มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาดเล็กน้อย จากการแจกจ่ายวัคซีนที่ช้ากว่าที่เคยคาดไว้ และมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมน้อยกว่า




EIC-Outlook-Q12021_InfoGlobal_TH.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ