SHARE
SCB EIC BRIEF
22 กุมภาพันธ์ 2021

Food Security: วิกฤตความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19

สถานการณ์การขาดแคลนอาหารทั่วโลกมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2014

LINE_sharebutton<sup>1</sup>-(1)-(1).JPG



GettyImages-1208875253.jpg

สถานการณ์การขาดแคลนอาหารทั่วโลกมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2014 โดยโครงการอาหารโลก องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ในปี 2019 ประชากรโลกกว่า 135 ล้านคนกำลังเข้าสู่ภาวะอดอยาก สะท้อนถึงวิกฤตความมั่นคงทางอาหารที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็เป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตความมั่นคงทางอาหารเช่นกัน เนื่องจากการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในหลายประเทศตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2020 ที่ทำให้เกิดการปิดประเทศและจำกัดการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้าและแรงงานระหว่างประเทศหรือระหว่างเมือง จนนำไปสู่ปัญหาการขาดช่วงของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการจำกัดการส่งออกและนำเข้าอาหารในบางประเทศ โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังยืดเยื้อจะยังคงเป็นความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนอาหารในปี 2021 เช่นกัน


ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร?


ความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security ตามนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) หมายถึง สภาวะที่คนมีความสามารถทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ในทุกขณะเวลา ทั้งนี้ FAO ได้แบ่งองค์ประกอบของความมั่นคงทางอาหารเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1. การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability): การมีอาหารในปริมาณที่เพียงพออยู่อย่างสม่ำเสมอ
2. การเข้าถึงอาหาร (Food Access): การมีทรัพยากรที่เพียงพอในการได้มาซึ่งอาหาร
3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization): การมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากอาหารได้อย่างเหมาะสม และสามารถจัดเตรียมอาหารให้ถูกสุขอนามัย
4. การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability): การเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอตลอดเวลา

FAO เปิดเผยว่า ในปี 2019 ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน ได้เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือคิดเป็นประมาณ 25.9% ของประชากรโลก ซึ่งสัดส่วนของประชากรโลกที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 ทุกภูมิภาคทั่วโลกยกเว้นอเมริกาเหนือและยุโรป โดยเอเชียมีประชากรที่เผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารมากที่สุดถึง 1 พันล้านคน อย่างไรก็ดี แอฟริกามีสัดส่วนประชากรที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารสูงที่สุดที่ 51.6% ของประชากรในภูมิภาค ขณะที่สัดส่วนของเอเชียอยู่ที่ประมาณ 22.4% ทั้งนี้ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมีสัดส่วนประชากรที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดโดยเพิ่มจาก 22.9% ในปี 2014 ไปอยู่ที่ 31.7% ในปี 2019

 
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารคืออะไร?

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารไม่ได้มีเพียงความยากจนเท่านั้น แม้ความยากจนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ แต่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน (World Bank ประกาศเส้นความยากจนไว้ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในปี 2015) ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเช่นกัน โดยปัจจัยส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก ได้แก่

1. การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรโลก
2. ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลโดยตรงต่อการลดลงของพื้นที่ทำการเกษตร
3. การขาดแคลนน้ำที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในการเกษตร
4. การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น
5. พฤติกรรมการบริโภคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น พื้นที่ทำการเกษตรที่ลดลงจากการขยายของเขตเมือง ปัญหาดินที่เสื่อมโทรมจากการทำการเกษตรที่มากเกินไป รวมถึงการครองตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตร ที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยมีข้อจำกัดในการผลิตและขายสินค้าเกษตร และราคาสินค้าเกษตรที่ถูกกำหนดจากบริษัทใหญ่ นอกจากนี้ การที่บริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทควบคุมสัดส่วนปริมาณการผลิตอาหารที่มากเกินไปจะเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร ถ้าหากว่าบริษัทใหญ่ปฏิเสธที่จะส่งอาหารไปจำหน่ายในบางภูมิภาค หรือประสบปัญหาในกระบวนการผลิต

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลอย่างไรต่อความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก?

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกมีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศหรือระหว่างเมือง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการจำกัดการขนส่งสินค้า (การขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ) การเคลื่อนย้ายแรงงาน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ถูกจำกัด โดยภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเดือนมีนาคม 2020 ประเทศส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์ มีการใช้มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดนทั้งสิ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของประเทศเหล่านี้ไปยังตลาดอาหารโลก รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศที่ถูกจำกัดจากมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามประเทศยังทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลให้มีการปิดโรงงานผลิตอาหาร ทั้งนี้กลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบและเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารในช่วงการแพร่ระบาดมาก ได้แก่ ประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศและต้องพึ่งการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนหรือประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่สูญเสียรายได้หลักจากการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก

ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารที่หยุดชะงักจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น จะยิ่งกดดันราคาอาหารในตลาดโลกให้สูงขึ้น โดยราคาอาหารโลก (Food Price Index) ของ FAO สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน และแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ณ เดือนธันวาคม ปี 2020 (รูปที่ 1) ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 กลุ่มอาหารที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันพืช กลุ่มธัญญพืช กลุ่ม dairy product ขณะที่ราคาอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ลดลง (รูปที่ 2) ทั้งนี้ราคาอาหารมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2021 ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อรายจ่ายในการซื้ออาหารของครัวเรือนทั่วโลก

Screen-Shot-2564-02-22-at-10.27.16.png

นอกจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะกระทบการนำเข้า-ส่งออกอาหาร และปัจจัยการผลิตอาหารแล้ว รายได้ที่ลดลงของประชากรก็ถูกกระทบโดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการหดตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน โดยธนาคารโลกคาดว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้ประชากรโลกประมาณ 88-115 ล้านคนเข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรง (Extreme poverty) ในปี 2020 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคนภายในปี 2021 ส่งผลให้ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดย FAO คาดการณ์ว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งในด้านการขนส่ง ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร และรายได้ของประชากร จะทำให้จำนวนประชากรโลกที่ขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นที่ราว 83 – 132 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ปัญหาการขาดความมั่นคงทางอาหารจะนำไปสู่รายจ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นของทั้งครัวเรือนและภาครัฐ และส่งผลต่อเนื่องไปยังทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างเต็มประสิทธิภาพจากสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอจากการขาดสารอาหาร

 

สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยน่ากังวลหรือไม่?

FAO มีการเผยแพร่ข้อมูล Prevalence of Undernourishment (PoU) หรือสัดส่วนประชากรที่ขาดแคลนสารอาหารต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารได้ ในปี 2018 ประเทศไทยมีสัดส่วน PoU อยู่ที่ 9.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 (รูปที่ 3) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 8.9% ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้สูงมี PoU อยู่ที่เพียง 2.7% นอกจากนี้ จากข้อมูล Global Food Security Index (GFSI) ที่จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit ในปี 2019 พบว่า ประเทศไทยมีระดับความมั่นคงทางอาหารอยู่ในอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 113 ประเทศ ด้วยคะแนน 65.1 (รูปที่ 4) ทั้งนี้จากข้อมูล PoU และ GFSI จะสังเกตได้ว่า ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารของไทยนั้นยังไม่ถึงขั้นที่รุนแรง แต่ขณะเดียวกันไทยก็ยังมีประชากรที่ขาดแคลนสารอาหารในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารอาหารที่เพียงพอและหลากหลายของประชากรในประเทศ

Slide2.JPG

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารอาหารที่เพียงพอของไทยนั้น อาจเริ่มจากนโยบายภาครัฐที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงอาหารของคนไทย เช่น การสนับสนุนเกษตรกรให้ผลิตและคงความหลากหลายของอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคได้มากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่มากขึ้น รวมไปถึงมาตรการที่ช่วยประคับประคองรายได้ของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ เป็นต้น


                                             


เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 22 ก.พ. 2021

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ