SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
14 ธันวาคม 2020

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 ณ ไตรมาส 4/2020

EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -7.8% จากเดิมคาดที่ -7.3% จากภาคท่องเที่ยวที่ยังซบเซา ประกอบกับเม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

17.jpg

EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวน้อยลงที่ -6.5% จากเดิมคาด -7.8% ตามการฟื้นตัวที่เร็วกว่าคาดของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/2020 ขณะที่ในปี 2021 EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP เป็น 3.8% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.5% ตามเม็ดเงินและมาตรการภาครัฐที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม


ข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2020 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าคาดโดยหดตัวเพียง -6.4%YOY ส่งผลให้ EIC มีการปรับคาดการณ์ GDP ปี 2020 เหลือหดตัวที่ -6.5% จากเดิมที่คาดหดตัวถึง -7.8% โดยจากข้อมูล GDP ในช่วงไตรมาส 3 แม้ว่าภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังคงซบเซา แต่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการค้าโลกหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวเร็วกว่าคาด นำโดยการฟื้นตัวเร็วของการบริโภคภาคเอกชน และเม็ดเงินจากภาครัฐที่มีการขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่การฟื้นตัวอาจชะลอลงตามการกลับมาระบาดและใช้มาตรการปิดเมืองแบบเฉพาะจุดในหลายประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐฯ ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาครัฐ จะได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปลายปี 2019 ที่มีการจัดทำงบประมาณล่าช้า ประกอบกับหลายมาตรการภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน ได้แก่ มาตรการคนละครึ่ง มาตรการช้อปดีมีคืนและการโอนเงินช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ EIC จึงปรับคาดการณ์ GDP ปี 2020 เป็นหดตัวน้อยกว่าเดิมมาอยู่ที่ -6.5%

สำหรับปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยกดดันจากผลจากแผลเป็นเศรษฐกิจ (scarring effects) เป็นสำคัญ โดยเฉพาะความเปราะบางของตลาดแรงงาน (การว่างงานที่สูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนว่างงานชั่วคราวที่ยังมีมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง) การเปิด-ปิดกิจการที่ซบเซาต่อเนื่อง และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในประเทศผ่านการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคส่งออกก็มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021

อย่างไรก็ดี EIC ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมที่คาด 3.5% เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินจากภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเพิ่มเติมจากที่เคยคาดไว้ รวมถึงคืบหน้าด้านการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ก็จะมีส่วนช่วยทำให้การท่องเที่ยวปรับดีกว่าคาดเล็กน้อย โดยในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ กรอบวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทำให้เม็ดเงินในส่วนของงบประมาณมีโอกาสที่จะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวดีถึง 12.2% ในปี 2021 นอกจากนี้ ยังมีวงเงินเหลือจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อีกประมาณ 5 แสนล้านบาท ที่สามารถใช้ได้ในปี 2021 ซึ่งวงเงินนี้จะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจได้หลายภาคส่วน อาทิ มาตรการช่วยเหลือเงินแก่บุคคลบางกลุ่มและมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการด้านการเกษตร และโครงการสร้างอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้รายได้ภาษีที่ลดลงประกอบกับการกู้เงินที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจทำให้หนี้สาธารณะมีโอกาสเข้าไปใกล้เคียงเพดานหนี้ที่ 60% ของ GDP จึงนำมาซึ่งความกังวลด้านความเสี่ยงทางการคลัง อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่ารัฐบาลสามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะได้และไทยยังมีความแข็งแกร่งทางการคลังพอสมควร สะท้อนจาก rating ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ยังให้ไทยมีความแข็งแกร่งทางการคลังในระดับดี ดังนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะและกู้เงินเพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้แต่ควรมีการจัดทำแผนการจัดการหนี้อย่างโปร่งใสควบคู่ไปด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าด้านการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจากหลายค่าย จะมีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวปรับดีกว่าคาดเล็กน้อย โดย EIC คาดว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้วัคซีนที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้อย่างแพร่หลายในช่วงต้นปี 2021 เนื่องจากมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ขณะที่ในกรณีประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ คาดว่าจะได้รับวัคซีนช้ากว่าตั้งแต่ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป ซึ่ง EIC คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยเร่งตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ประเทศต้นทางและประเทศปลายทางอย่างไทยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว ดังนั้น จึงมีการปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ 8.4 เป็น 8.5 ล้านคน

ด้านความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ประกอบไปด้วยการกลับมาระบาดอีกครั้งของ COVID-19 ทั้งในต่างประเทศและในไทยในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย และแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกังวลเกี่ยวกับ Zombie Firm (บริษัทที่ขาดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน) ที่อาจมีเพิ่มขึ้นจากวิกฤติในรอบนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการกระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพของไทย และปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ รวมถึงปัญหาด้านการเมืองในประเทศของไทย ที่อาจมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยหากสถานการณ์มีความรุนแรงและยืดเยื้อ ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการลงทุนภาคเอกชน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ