SHARE
OUTLOOK:CHINA ECONOMY
09 ธันวาคม 2020

เศรษฐกิจจีน

ยังคงฟื้นตัวตามคาดการณ์และฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

iStock-916629338.jpg

เศรษฐกิจจีน : ยังคงฟื้นตัวตามคาดการณ์และฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น


เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังฟื้นตัวได้ก่อนประเทศอื่น โดยในไตรมาส 3 ปี 2020 ขยายตัวที่ 4.9%YOY เทียบกับ 3.2%YOY ในไตรมาสที่ 2 ทำให้จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงแนวโน้มขยายตัวในปีนี้ โดยการลงทุนภาครัฐที่ผ่านมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนจนถึงไตรมาสที่ 2 และเริ่มลดบทบาทลงในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ภาคการบริโภคเริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ดีที่สุดในไตรมาส 3 ได้แก่ อุตสาหกรรมการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน (1.9%YOY) และอสังหาริมทรัพย์ (2%YOY)

EIC คาดเศรษฐกิจจีนจะโต 2% ในปี 2020 และขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 8.3% ในปี 2021 โดยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นำโดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2020 ที่ฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนวิกฤติ COVID-19 ในเดือนธันวาคม 2019 ในขณะเดียวกัน ภาคการลงทุน และภาคการบริโภคส่งสัญญาณฟื้นตัวตามมาแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤติ ทั้งนี้การบริโภคภายในของจีนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงเนื่องจากภาคบริการอาจยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคบางส่วนที่ยังมีผลอยู่ เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับปี 2021 เป็นต้นไป เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากแผนยุทธศาสตร์ห้าปี (Five-Year Plan) ฉบับที่ 14 ซึ่งจะมุ่งเน้นการเติบโตภายในที่ยั่งยืนจากการบริโภคภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศที่ในระยะหลังที่มีความผันผวนมากขึ้น (dual circulation strategy)

ทางการจีนมีแนวโน้มชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี สำหรับในด้านการคลังรัฐบาลจีนได้ชะลอค่าใช้จ่ายภาครัฐลง สะท้อนจากงบประมาณขาดดุล 5.8% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 3 (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.7% ในไตรมาสที่ 2) ส่วนในด้านนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางจีนได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.85% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 และมีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ EIC มองว่าทางการจีนจะเริ่มปรับนโยบายการคลังกลับสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ในปี 2021 แต่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงต่ำ

ความเสี่ยงในระยะต่อไปอาจมาจากอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่เริ่มหดตัว โดยแม้ว่าการส่งออกโดยรวมของจีนจะกลับมาขยายตัวถึง 11.4%YOY ในเดือนตุลาคม (จาก 9.9%YOY ในเดือนกันยายน) แต่การนำเข้ากลับหดตัวเหลือเพียง 4.7%YOY ในเดือนตุลาคม (จาก 13.2%YOY ในเดือนกันยายน) ซึ่งการนำเข้าที่หดตัวลงนั้นนำโดยการนำเข้าแผงวงจรรวม (Integrated Circuit) ที่ลดลงถึง -15%MOM ซึ่งแนวโน้มการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตที่ลดลงนี้สะท้อนถึงอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลงจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในประเทศคู่ค้าหลักของจีน

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและความคืบหน้าด้านการพัฒนาวัคซีนล่าสุดจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนต่อไป โดยมีโอกาสต่ำที่อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอีกในสมัยของไบเดน รวมถึงความไม่แน่นอนด้านสงครามการค้าที่น่าจะลดลง และวัคซีนที่แพร่หลายจะช่วยฟื้นฟูภาคการบริการของจีนให้กลับมาทันภาคการบริโภคสินค้า


นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินหยวน ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2020 แข็งค่าขึ้น 5.8%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยจนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงไหลเข้าสู่สินทรัพย์สกุลเงินหยวน ส่วนเงินทุนไหลออกจากนักท่องเที่ยวจีนยังคงมีจำกัดจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2020 นั้น มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนทั้งของไทยและประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มขึ้นใหม่ อาจลดแรงกดดันแข็งค่าของเงินหยวนลงบ้าง

• การส่งออกของไทยไปจีนใน 10 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 2.7%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (41.1%YOY) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (20.7%YOY) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (15.5%YOY) ในระยะข้างหน้า การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศของจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว

• การลงทุนโดยตรงจากจีนในไทยใน 9 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 4.3%YOY จากกระแสสงครามการค้าและการปรับโครงสร้างการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังมี COVID-19 ระบาด สอดคล้องกับจำนวนนักลงทุนจีนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกันยายน 2020 มากถึง 129 โครงการ มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท


12.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ