SHARE
OUTLOOK:JAPAN ECONOMY
09 ธันวาคม 2020

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

ฟื้นตัวจากการส่งออก แต่การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นจะเป็นความเสี่ยง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


iStock-511092543-(1).jpg

เศรษฐกิจญี่ปุ่น : ฟื้นตัวจากการส่งออก แต่การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นจะเป็นความเสี่ยง


EIC คาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2020 GDP จะหดตัว -5.0% โดยในไตรมาส 3 ปี 2020 ขยายตัว 22.9%QOQ SAAR แต่หดตัว -5.7%YOY หลังจากที่ญี่ปุ่นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 4% ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมรถยนต์และสินค้าทุน (Capital goods) อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคบริการนั้นยังเป็นไปอย่างล่าช้า สะท้อนได้จากดัชนีการบริโภคของ BOJ ในเดือนตุลาคมที่ดัชนีในหมวดการบริการหดตัวลง -8.9%YOY แต่เป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่หดตัว -14.6%YOY อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของไวรัสที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในญี่ปุ่น อาจส่งผลให้การเติบโตในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 มีโอกาสชะลอลง

EIC คาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัว 2.5% ในปี 2021 โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนการฟื้นตัว ได้แก่ ภาคส่งออกที่ยังคงมีอุปสงค์จากประเทศเอเชียอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในสินทรัพย์ทุน (Capital Expenditure) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการลงทุนด้านดิจิทัล ขณะที่การบริโภคภายในประเทศจะมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ และโอกาสที่จะมีการใช้วัคซีนในปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ภาคบริการสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดในต่างประเทศที่อาจส่งผลต่ออุปสงค์สินค้าส่งออกของญี่ปุ่น

ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ญี่ปุ่นจะยังคงนโยบายเดิมของอาเบะไว้ แต่เน้นไปที่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยโยชิฮิเดะ ซูงะ (Yoshihide Suga) นายกฯ คนใหม่ต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เน้นไปที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พร้อมกับยุคดิจิทัล (Digitalisation) ปัญหาประชากรลด และการลดกฎระเบียบเพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส

คาด BOJ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไป แต่อาจยืดอายุมาตรการพิเศษในการสนับสนุนการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ ในการประชุมเดือนตุลาคม BOJ ได้มีมติให้คงนโยบายการเงินทุกนโยบายไว้ตามเดิม โดย EIC คาดว่า BOJ จะไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายให้ติดลบมากขึ้น เว้นแต่ค่าเงินเยนจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ BOJ จะต่ออายุมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ โดยภายใต้มาตรการนี้ BOJ จะปล่อยสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจต่อไป

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินเยน ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน2020 แข็งค่า 4.3%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี เงินเยนมีแนวโน้มทรงตัว แต่มีความเสี่ยงไปทางแข็งค่ามากขึ้น หากสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ได้ เนื่องจากเงินเยนถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

• การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นใน 10 เดือนแรกของปี 2020 หดตัว -9.7%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-12.4%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่นๆ (-15.7%) และเม็ดพลาสติก (-29.3%) ขณะที่สินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (16.6%) และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (19.3%)

• การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมายังไทยในครึ่งแรกของปี 2020 หดตัว -15.2%YOY และใน 9 เดือนแรกของปี 2020 มีโครงการจากญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ทั้งหมด 164 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 47,618 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น กิจการรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบแบตเตอรี่ และแบบ Plug-in hybrid และกิจการผลิต Hard Disk Drive สำหรับแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น แม้จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงนโยบายสนับสนุนให้กระจายฐานการผลิตนอกเหนือจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นมากขึ้นได้

11.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ