SHARE
OUTLOOK:EUROZONE ECONOMY
09 ธันวาคม 2020

เศรษฐกิจยูโรโซน

ปรับตัวแย่ลงก่อนที่จะฟื้นตัวในปี 2021

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2020  คลิกอ่านฉบับเต็ม

EIC คาดเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2020 หดตัว -7.3% โดยเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2020 ขยายตัว 12.5%QOQ SA แต่หดตัว -4.3%YOY สะท้อนถึงการฟื้นตัวหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งทำให้รัฐบาลของหลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้นอีก ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ชะลอลง สะท้อนจากดัชนี PMI เดือนพฤศจิกายนที่ลดลงมาสู่ระดับ 45.3 จาก 50.0 ในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี คาดผลกระทบของการระบาดรอบสองจะไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เนื่องจากมาตรการปิดเมืองที่กลับมาใช้ยังไม่เข้มงวดเท่ากับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยภาคการผลิต โรงเรียนและร้านค้าบางประเภทยังคงสามารถเปิดทำการได้

EIC คาดว่าในปี 2021 เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 4.5% โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลาย โอกาสที่จะมีวัคซีนใช้ในปี 2021 และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยประเทศในทวีปยุโรปจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มประเทศที่จะมีวัคซีนใช้เป็นลำดับแรก ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ยุโรปผ่อนคลายหรือเลิกใช้มาตรการปิดเมืองได้เร็ว นอกจากนี้ หลายประเทศในยุโรปได้ทำการต่ออายุมาตรการสนับสนุนรายได้ (income support) แล้ว พร้อมทั้งได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยุโรป ได้แก่ การระบาดรอบสองที่รุนแรงและนานกว่าคาด และการไม่สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit

คาดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ในปี 2021 จะต่างออกไป โดยในปี 2020 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเยียวยาภาคธุรกิจและแรงงานที่รายได้ลดลง อย่างไรก็ดี ในปี 2021 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่จะเพิ่มน้ำหนักไปที่การลงทุนเชิงโครงสร้างมากขึ้น ซึ่งเงินช่วยเหลือและเงินกู้จากแผนฟื้นฟูจะเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ นอกจากนี้ กฎการคลัง Growth and Stability Pact ของยูโรโซนจะถูกพักชั่วคราวในปี 2021 ซึ่งเดิมทีกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อควบคุมการขาดดุลการคลังและการก่อหนี้สาธารณะ จึงจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่

คาด ECB จะประกาศซื้อสินทรัพย์เพิ่มในการประชุมเดือนธันวาคม โดยถึงแม้ว่าที่ประชุม ECB จะมีมติให้คงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคม แต่จากคำแถลงของ Christine Lagarde ประธาน ECB ที่ได้กล่าวว่าทาง ECB กำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเครื่องมือนโยบายการเงิน EIC จึงคาดว่าในการประชุมของ ECB ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม ECB จะเพิ่มวงเงินในการซื้อสินทรัพย์ของมาตรการ PEPP อีกประมาณ 4-5แสนล้านยูโร (จากเดิมที่มีเพดานในการซื้ออยู่ 1.35 ล้านล้านยูโร) และจะเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมผ่านโครงการ Asset Purchase Programme (APP) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ ECB จะปรับเงื่อนไข Targeted Longer-term Refinancing Operations (TLTRO III) เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดใน TLTRO อยู่ที่ -1%


นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินยูโร ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2020 แข็งค่าขึ้น 6.4%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปี 2020 เงินยูโรมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

• การส่งออกไทยไปยูโรโซนใน 10 เดือนแรกของปี 2020 หดตัว -12.6%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-8.1%) แผงวงจรไฟฟ้า(-20.4%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-34.5%) ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (36.2%) และ อาหารสัตว์เลี้ยง (10.1%)

• การลงทุนทางตรงจากยูโรโซน มายังไทยในครึ่งแรกของปี 2020 หดตัว -9.9% นอกจากนี้ใน 9 เดือนแรกของปี 2020 ประเทศกลุ่มยูโรโซน มีการยื่นขอการส่งเสริมจาก BOI 115 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 22,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.7% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2019 โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศในยูโรโซน ที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ที่ 17,514 ล้านบาท เป็นรองเพียงญี่ปุ่นและจีน


10.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ