SHARE
SCB EIC BRIEF
19 พฤศจิกายน 2020

วัคซีน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเศรษฐกิจไทย?

ข่าววัคซีนของ Pfizer BioNTech และ Moderna ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติด COVID-19 สูงกว่า 90% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก...

GettyImages-627196908-(1).jpg

ข่าววัคซีนของ Pfizer BioNTech และ Moderna ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติด COVID-19 สูงกว่า 90% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน บริษัทเดินเรือสำราญ และโรงแรม ในขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทที่ได้ผลบวกจากการแพร่ระบาด COVID-19 เช่น Amazon Zoom และ Peloton ปรับตัวลดลง ราคาหุ้นไทยก็ปรับขึ้นมากเช่นกันจากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นบวกสุทธิเป็นเดือนแรกของปี จนหลายคนอาจสรุปว่า วัคซีนจะเป็นแสงสว่างสำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยให้สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นาน แต่ในความเป็นจริง ยังมีความท้าทายสำคัญที่ยังต้องติดตามและบริหารจัดการก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์จากวัคซีน COVID-19 อย่างเต็มที่

ตลาดการเงินตอบสนองต่อผลการทดลองของ Pfizer และ Moderna อย่างรวดเร็ว เพราะมีนัยบวกต่อแนวโน้มความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนตัวอื่น ๆ ด้วย เนื่องจาก 1) แมสเสนเจอร์อาร์เอ็นเอ หรือ mRNA วัคซีนถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ผลการทดลองของ Pfizer และ Moderna พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้จริง ทำให้โอกาสความสำเร็จของวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองสูงขึ้นเช่นกัน 2) ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อของ Pfizer และ Moderna วัคซีนสูงถึง 90% และ 94.5% ตามลำดับ เทียบกับวัคซีนไข้หวัดที่มีประสิทธิภาพราว 40% - 60% และ 3) วัคซีนของทั้ง Pfizer และ Moderna ใช้ข้อมูลพันธุกรรมของ Spike Protein ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัส ในการสั่งงานให้เซลล์ในร่ายกายของเราสร้างภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่ใช้ Spike Protein ในการกระตุ้นให้ร่างการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น AstraZeneca Johnson & Johnson และ Novavax ก็มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นเช่นกัน การที่มีวัคซีนหลายตัวที่ประสบความสำเร็จก็จะช่วยให้การเข้าถึงของประชากรโลกเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวดีข้างต้น ยังมีความท้าทายที่เป็นคำถามสำคัญอย่างน้อย 2 ข้อ ได้แก่ ความชัดเจนของคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ของวัคซีนใหม่ และความเร็วที่วัคซีนจะถูกกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ในประเด็นแรก เนื่องจาก mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่และการทดลองในมนุษย์ทำแค่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แม้การทดลองทางคลินิกวัคซีนจะแสดงว่า วัคซีนได้ผลสูง แต่ก็เป็นการทดลองที่ใช้กับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ยังมีความกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงทั้งระยะสั้นและระยะยาวเมื่อใช้กับประชากรโดยทั่วไป ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนซึ่งจะได้รับภูมิต้านทานต่อ COVID จะยังสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้หรือไม่ ประเด็นนี้จะมีนัยสำคัญต่อนโยบายสาธารณสุขและต่อนโยบายการเปิดประเทศต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หากผู้ได้รับวัคซีนยังอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ การเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวนักท่องเที่ยว อาจต้องรอให้คนไทยได้รับวัคซีนในวงกว้างก่อนด้วย รวมทั้งยังไม่ชัดเจนว่า ระยะเวลาของภูมิคุ้มกันจะยาวนานแค่ไหน ความไม่แน่นอนในคุณสมบัติด้านต่าง ๆ นี้ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและความยินดีของผู้คนที่จะทดลองใช้วัคซีนในช่วงแรกด้วย ดังนั้น ในประเด็นเหล่านี้คงต้องรอผลจากการใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) ที่น่าจะเริ่มขึ้นได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้และจากการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป ควบคู่กับการสื่อสารอย่างเหมาะสมของหน่วยงานของประเทศต่าง ๆ ด้วย

ข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีน COVID-19 ของประเทศต่าง ๆ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2020)

Slide1.JPG

สำหรับความเร็วของการกระจายวัคซีนนั้นจะขึ้นกับการจัดการกับความท้าทายด้านการผลิตขนส่งและแจกจ่ายวัคซีนที่มีอยู่พอสมควร เนื่องจากเทคโนโลยี mRNA เป็นนวัตกรรมใหม่ ความพร้อมในด้านเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ในประเทศกำลังพัฒนายังต่ำเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนประเภทอื่นและ technology transfer อาจจะต้องใช้เวลา ในด้านการขนส่งวัคซีนของ Pfizer ต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำถึง -70˚C และอยู่ได้ที่อุณหภูมิแช่เย็น (2 - 8˚C) ได้เพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้การขนส่งวัคซีนจะมีความท้าทายและมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่วัคซีนของ Moderna ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20˚C สามารถอยู่ได้ที่อุณหภูมิแช่เย็นได้ราว 30 วัน นอกจากนี้วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ต้องฉีด 2 เข็มด้วยระยะเวลา 3 สัปดาห์และ 4 สัปดาห์ตามลำดับ ดังนั้น การบริหารจัดการให้คนมาฉีดให้ครบทั้ง 2 เข็มตามวันที่กำหนดก็จะเป็นความท้าทายเช่นกัน

จำนวนวัคซีนที่จะผลิตให้เพียงพอกับประชากรของโลกก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายหลัก Pfizer ได้ประกาศว่าบริษัทสามารถผลิตวัคซีนได้ราว 1,300 ล้านโดสในปี 2021 ในขณะที่ Moderna สามารถผลิตได้ราว 500 – 1,000 ล้านโดสในปี 2021 ซึ่งจะเพียงพอสำหรับ 900 – 1,150 ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่ประชากรโลกมีถึง 7,800 ล้านคน โดยประชากรของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer และ/หรือ Moderna มีราว 1,230 ล้านคน นอกจากนี้วัคซีนตัวอื่นที่มีความคืบหน้าในการวิจัยหลายตัวก็ได้ถูกประเทศต่าง ๆ สั่งจองไปแล้ว โดยประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าก็มีโอกาสได้รับวัคซีนก่อน โดยประชากรในประเทศเหล่านั้นก็อาจจะมี herd immunity จากการฉีดวัคซีนภายในครึ่งแรกของปี 2021 (ตามรูป) ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา การได้รับวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอที่จะสร้าง herd immunity ได้นั้นจะขึ้นอยู่กับ 3 แนวทาง ได้แก่ 1) การตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตหรือการได้ license ในการผลิต เช่นที่ สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี ทำข้อตกลงกับ AstraZeneca เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  2) การประสานงานระหว่างประเทศ โดย COVAX (COVID-19 Vaccines Global Access Facility) คือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และมี 3 องค์กรหลักคือองค์การอนามัยโลก พันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 อย่างน้อย 2,000 ล้านโดสภายในปี 2021 ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียม โดยประเทศไทยได้ไปเข้าร่วมใน COVAX แล้ว อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายวัคซีนของ COVAX แก่ประเทศต่าง ๆ นั้น ยังไม่มีความชัดเจนและขึ้นอยู่กับ Guideline ขององค์กรใน COVAX ทั้ง 3 องค์กร และ 3) การผลิตขึ้นมาเองด้วยเทคโนโลยีของตน เช่น ในกรณีของไทย ที่ภาครัฐสนับสนุนโครงการผลิตวัคซีนในประเทศอยู่หลายโครงการ เช่น โครงการวัคซีน mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในภาพรวม EIC คาดการณ์ในกรณีฐานว่า ไทยจะได้รับวัคซีนในวงกว้าง (อย่างน้อย 50% ของประชากร) ก็คงเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี 2021  

ข่าวของ Pfizer และ Moderna ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในระยะสั้น การระบาดของโรคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปและอเมริกา ก็จะทำให้เศรษฐกิจเหล่านั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะที่การใช้วัคซีนจะเกิดขึ้นแพร่หลายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ก่อนที่จะกระจายตัวมายังประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ซึ่งน่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับสูงขึ้นได้บ้างประมาณ 8-10 ล้านคนในปีหน้า โดยจะเป็นการกระจุกตัวในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังน้อยกว่าระดับเดิมก่อนเกิด COVID ที่ 40 ล้านคนอยู่มาก ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1-2 ปี  ดังนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นแสงสว่างและได้รับประโยชน์จากราคาหุ้นและความเชื่อมั่นที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่เรายังต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจริงอย่างช้า ๆ ในช่วงปีหน้าและแผลเป็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน การปิดกิจการ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ควบคู่กับการได้มาและการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากวัคซีนและฟื้นตัวจากวิกฤตรอบนี้ได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

                                                                                                 

เผยแพร่บนบทความเว็บไซด์ The Standard Wealth คอลัมน์ Opinion วันที่ 19 พฤศจิกายน 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ