SHARE

พลาสติกย่อยสลายได้…ทางออกในยุคสิ่งแวดล้อมก็ต้องใส่ใจ อนามัยก็ต้องรักษา

การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุหลายประการ

GettyImages-847080082-(1).jpg


การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก แก้วน้ำ ช้อน สำหรับ food delivery อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงซองพัสดุในธุรกิจ e-commerce ที่เติบโตอย่างมากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

แม้รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2018 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการลดและเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-used plastic) ซึ่งวางเป้าหมายระหว่างปี 2019-2025 แต่ Covid-19 ทำให้ผู้บริโภคไทยต้องหันกลับมาใช้ single-used plastic อีกครั้ง จึงทำให้มีปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามมา โดยในเดือนมกราคม–มีนาคม 2020 ขยะพลาสติกทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 15% จาก 5,500 ตันต่อวันในปี 2018 เป็น 6,300 ตันต่อวัน ส่วนเดือนเมษายน 2020 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะพลาสติก 3,432 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 1,317 ตันต่อวัน หรือขยายตัว 62%YOY

ทำอย่างไรเราจึงจะปลอดภัยจากโรคติดต่อ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม? พลาสติกที่ย่อยสลายได้จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจสำหรับการแก้ปัญหานี้

พลาสติกชีวภาพแบบย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (compostable plastic) เมื่อผ่านกระบวนการหมักจะสามารถสลายตัวเป็นแร่ธาตุ เป็นสารประกอบในธรรมชาติ หรือเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ 90% ของวัสดุต้องย่อยสลายทางชีวภาพเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และชีวมวล ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ปัจจุบันเม็ดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ Polylactic acid (PLA) ผลิตจากสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งข้อดีของ PLA คือมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไป ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร ยืดอายุการวางอยู่บนชั้น ไม่ปนเปื้อน ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ทั้งนี้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ขณะนี้มีโรงงานผลิต PLA ของบริษัท Total Corbion PLA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Total และ Corbion เปิดในปี 2019 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ซึ่งใช้วัตถุดิบจากอ้อยในประเทศ โดยโรงงานแห่งนี้ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยเน้นตลาดส่งออกไปยังยุโรป เป็นหลัก 

แนวโน้มการใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้ยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดย Bloomberg ประเมินตลาดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ของโลกจะมีมูลค่าสูงขึ้นจาก 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 เป็น 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 หรือขยายตัว 12%ต่อปี สำหรับไทยพลาสติกย่อยสลายได้มีศักยภาพเติบโตจากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) กระแสรักษ์โลก 2) นโยบายรัฐบาล 3) การเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 4) การใช้สินค้าเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม พลาสติกแบบย่อยสลายได้ยังมีความท้าทายสำคัญ คือ 1) ด้านราคาที่แพงกว่าพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่า ภาครัฐจึงมีมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนการใช้ โดยภาคธุรกิจสามารถนำรายจ่ายค่าซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้มาหักเป็นจำนวน 1.25 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในช่วงปี 2019-2021 ทั้งนี้ราคาของพลาสติกแบบย่อยสลายได้มีแนวโน้มลดลงตามต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง และ 2) การจัดเก็บขยะพลาสติก เนื่องจากพลาสติกแบบย่อยสลายได้ต้องอยู่ในสภาวะที่อุณหภูมิ ความชื้น และระดับจุลินทรีย์เหมาะสม จึงจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การจัดเก็บที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้ขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่ทะเล

ไทยมีความได้เปรียบทั้งวัตถุดิบการเกษตรที่ใช้ผลิตพลาสติกแบบย่อยสลายได้ และที่ตั้งเหมาะสมต่อการส่งออกไปยังตลาดหลักในเอเชียและยุโรป จึงเป็นโอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อตอบรับเทรนด์การใช้พลาสติกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

                                                                                    

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Smart EEC วันที่ 9 พฤศจิกายน 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ