SHARE
SCB EIC ARTICLE
27 เมษายน 2011

มาตรการ BCA … เครื่องมือลดโลกร้อนและความเสี่ยงต่อการค้าโลกที่ไม่ควรมองข้าม!

มาถึงนาทีนี้ เชื่อว่าหนึ่งในหลายๆ "ประเด็นร้อน" ที่เป็น talk of the town และอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกมากที่สุด คือ ปัญหาโลกร้อน และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่นับวันยิ่งเกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดเข้าถล่มญี่ปุ่นอย่างบ้าคลั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้กลืนกินชีวิตผู้คนนับหมื่นและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ... แม้ว่าในปัจจุบันสาเหตุของการเกิดมหันตภัยเหล่านี้จะยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนมากนัก แต่หลายคนเชื่อว่า ภาวะโลกร้อนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้ภัยธรรมชาติต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น จึงอาจพูดได้ว่า ความแปรปรวนและภัยพิบัติต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือรวมทั้งช่วยกันผ่อนหนักให้เป็นเบา เพื่อต่ออายุให้กับโลกใบนี้

ผู้เขียน: วิชชุดา ชุ่มมี

 162597634.jpg

มาถึงนาทีนี้ เชื่อว่าหนึ่งในหลายๆ "ประเด็นร้อน" ที่เป็น talk of the town และอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกมากที่สุด คือ ปัญหาโลกร้อน และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่นับวันยิ่งเกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดเข้าถล่มญี่ปุ่นอย่างบ้าคลั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้กลืนกินชีวิตผู้คนนับหมื่นและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ... แม้ว่าในปัจจุบันสาเหตุของการเกิดมหันตภัยเหล่านี้จะยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนมากนัก แต่หลายคนเชื่อว่า ภาวะโลกร้อนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้ภัยธรรมชาติต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น จึงอาจพูดได้ว่า ความแปรปรวนและภัยพิบัติต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือรวมทั้งช่วยกันผ่อนหนักให้เป็นเบา เพื่อต่ออายุให้กับโลกใบนี้

ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งมีความพยายามในการจัดการกับปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเพื่อลดโลกร้อน การห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่การส่งเสริมให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ... ล่าสุด ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนเพิ่งประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2011-2015) โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนฯ ฉบับนี้ คือ การพลิกโฉมประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็น "จีนสีเขียว จีนสะอาด" ภายใต้แนวคิด "Going Green" โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความตื่นตัวของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในอนาคต รูปแบบการค้าระหว่างประเทศจะถูกจำกัดด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ( non-tariff barriers) มากขึ้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมทั้งไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

หนึ่งในมาตรการเพื่อลดโลกร้อนที่มีความน่าสนใจและอยากจะพูดถึงในครั้งนี้ คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะเป็น non-tariff barriers ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และอาจกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยสูญเสียโอกาสทางการค้าในตลาดโลก

หลักการสำคัญของ BCA คือ "การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าตามระดับคาร์บอน" เพื่อลดความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีมาตรการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดน้อยกว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น จะนำมาตรการ BCA มาใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า ผ่านการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีปริมาณคาร์บอนแฝงสูงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีการกำหนดโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดน้อยกว่า ซึ่งเท่ากับเป็นการชดเชยความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและปรับระดับความสามารถในการแข่งขันให้เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ (carbon playing filed) และลดแรงจูงใจในการย้ายฐานการผลิต (carbon offshoring) จากประเทศที่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังประเทศที่ไม่มีนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศที่มีการใช้มาตรการ BCA จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่เทียบเท่ากับสินค้าชนิดเดียวกัน (like products) ที่ผลิตในประเทศ โดยจะบังคับให้ผู้นำเข้าสินค้าในประเทศหรือผู้ส่งออกสินค้าต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซในปริมาณที่เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตสินค้านั้นๆ

สำหรับไทย กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ คือ อุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานเข้มข้นในการผลิต (energy intensive industries) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสูง เช่น เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า โดยผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเหล่านี้ไปขายยังประเทศที่มีมาตรการ BCA บังคับใช้ จะได้รับผลกระทบที่ชัดเจน คือ (1) ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทันที เนื่องจากต้องถูกเก็บภาษีพิเศษจากประเทศผู้นำเข้า หรือถูกบังคับซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) หรือต้องร่วมทำกิจกรรมเพื่อลดปัญหาโลกร้อน เช่น โครงการปลูกป่า หรือการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เป็นต้น (2) ต้องติดฉลาก carbon footprint เพื่อเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซ CO2 จากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต นับตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบและตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้านั้นๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าและบริการคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ หรือ "low carbon society" ในที่สุด

ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรองรับมาตรการ BCA ก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ ยังมีความเป็นไปได้สูงว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันกับ BCA อาจถูกผลักดันให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่มีผลบังคับใช้กันทั่วโลก รวมทั้งอาจมีการพัฒนาเงื่อนไขของการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของไทย แม้ว่าปัจจุบันเราจะยังไม่มีพันธกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เมื่อประเทศคู่ค้าของเรามีการออกกฎหมายหรือกติกาทางการค้าในเรื่องดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการบังคับทางอ้อมให้เราต้องปฎิบัติตามไปด้วย  ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศนั้นๆ ได้  ขณะเดียวกัน หากเรายังคงไม่มีมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังและเข้มงวดมากพอ ก็จะส่งผลให้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากประเทศพัฒนาแล้วยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าอาจจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการทำให้การรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakage) ในชั้นบรรยากาศโลกยังคงเกิดขึ้น รวมทั้งยังเป็นการผลักภาระในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศที่ไม่มีมาตรการที่เข้มงวดเช่นไทยอีกด้วย

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ